เควิน กอร์ดอน : ผู้ทำให้ชาวกัวเตมาลาถ่างตาเชียร์แบดมินตันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ – Sanook

ตั้งแต่มีการแข่งขันแบดมินตันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสัมผัสได้คือเหรียญทองที่แทบไม่เคยหลุดออกจากคอนักกีฬาจากประเทศจีน และชาติที่ท้าชิงพวกเขาส่วนใหญ่ก็อยู่ในเอเชียด้วยกันแทบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในโอลิมปิก โตเกียว 2020 มีนักกีฬาจากกัวเตมาลา ประเทศจากทวีปอเมริกาเหนือ ดินแดนที่แบดมินตันไม่เคยป๊อปปูล่าร์เลยแม้สักครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เควิน กอร์ดอน ชายผู้หัดเล่นแบดมินตันในช่วงเวลาที่เพื่อนทั้งชั้นเรียนพากันไปเตะฟุตบอล เพียงเพื่อเป้าหมายสำคัญของชีวิต คือการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย…

นี่คือเรื่องราวที่เริ่มต้นจากโจทย์ของคน ๆ เดียว ที่ตอนนี้กลายเป็นฮีโร่แห่งวงการแบดมินตันของทวีปอเมริกาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ติดตามได้ที่ Main Stand

ประเทศผมเตะแต่ฟุตบอล 

เควิน กอร์ดอน นักแบดมินตันชาวกัวเตมาลา คือมือวางอันดับ 1 ของทวีปอเมริกา เขาประสบความสำเร็จแทบทุกครั้งในการแข่งขันระดับท้องถิ่นหรือทวีป แต่เมื่อถามถึงผลการแข่งขันดี ๆ ในโอลิมปิก หรือการแข่งขันชิงแชมป์โลก เขาคือ No One อย่างแท้จริง 

เบื้องหลังไม่ต้องสืบสาวไปไกล เหตุผลง่าย ๆ คือประเทศแถบอเมริกา ไม่ว่าจะทางเหนือหรือใต้ พวกเขาไม่เล่นแบดมินตัน กัวเตมาลา ถือเป็นชาติที่ได้รับอิทธิพลจากอเมริกาและโลกตะวันตกพอสมควร พวกเขาอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ เหมือนกับสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเคยอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนเมื่อครั้งอดีต ประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ชาติ ไม่มีคำว่าแบดมินตันในพจนานุกรมกีฬา พวกเขาไม่เล่น … และเลือกที่จะหันหน้าให้กับกีฬาประเภทอื่นมากกว่า โดยเฉพาะ ฟุตบอล” 

“ที่เอเชีย อาจจะมีการสอน มีหลักสูตรสำหรับการเล่นแบดมินตัน แต่ที่กัวเตมาลา เราไม่ได้อยู่ใกล้เคียง ณ จุดนั้นเลย พวกเราไม่เล่นแบด เราบ้าคลั่งฟุตบอล แม้แต่ชื่อของผม พ่อก็ตั้งเลียนแบบชื่อของ เควิน คีแกน ตำนานนักเตะทีมชาติอังกฤษ” กอร์ดอน เล่าถึงตัวตนของเขา

แนวคิดคือสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่เล่นแบดมินตัน ชาวอเมริกาไม่ว่าเหนือหรือใต้มีมุมมองในแง่ลบเกี่ยวกับกีฬาประเภทนี้ พวกเขาคิดว่ามันเป็นกีฬาที่อ่อนแอ แม้จะมีวิธีการเล่นที่คล้าย ๆ เทนนิส แต่พวกเขาก็ประเมินแบดมินตันไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก แบดมินตัน จึงกลายเป็นกีฬาเชิงสันทนาการที่เล่นกันตามสวนหลังบ้านมากกว่า ไม่มีสื่อสนใจ รัฐบาลผลักดันน้อยกว่า สร้างรายได้และผลตอบแทนน้อยกว่าการเล่นเทนนิสอาชีพ … และแน่นอนว่าไม่มีนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จแบบที่ทำให้กระแสมันบูมได้ 

พ่อของ เควิน บอกเสมอว่าลูกชายของเขาเป็นนักฟุตบอลที่เก่งใช้ได้ ตั้งแต่ยังเด็ก เควิน เตะบอลด้วยเท้าซ้ายและพ่อหวังจะไปให้ไกลถึงทีมชาติ ทว่าเมื่อเขาอายุได้ 12 ปี ในปี 1998 มีชายคนหนึ่งเข้ามาทำงานในเทศบาลท้องถิ่นที่ดูแลหมู่บ้านของเขาที่ชื่อว่า อามิลการ์ คาสตาเนด้า เข้ามาประจำตำแหน่งและรับผิดชอบเรื่องกีฬา หลังจากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป 

ตัวของ คาสตาเนด้า เป็นนักศึกษาหัวนอกจบมาจากสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ใช่ประเทศที่เก่งเรื่องแบดมินตัน แต่คาสตาเนด้าเองก็เคยเรียนวิชาแบดมินตันสมัยอยู่ที่อเมริกามาก่อน เขาเชื่อว่าชุมชนจะแข็งแกร่งได้ถ้าสนับสนุนให้เด็กเล่นกีฬา สนามฟุตบอลอาจจะใหญ่เกินตัวและเกินงบประมาณ เขาจึงนำองค์ความรู้ที่มีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการขอใช้โกดังร้างในชุมชนมาทำเป็นสนามแบดมินตันชั่วคราว และแอบฝันอยู่ลึก ๆ ว่าสนามมือสองนี้ จะสามารถส่งตัวแทนแบดมินตันไปแข่งขันในโอลิมปิกได้ … และคาสคาเนด้า ก็เจอกับ เควิน กอร์ดอน

เล่นวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่า 

เควิน เข้ารับการฝึกจากโครงการของ คาสตาเนด้า ตั้งแต่อายุ 12 ปี และกลายเป็นศิษย์-อาจารย์ คู่หัวหอกแห่งวงการแบดมินตันในกัวเตมาลาเลยก็ว่าได้ เพราะตัวของ คาสตาเนด้า นั้นตั้งใจปั้น เควิน อย่างจริงจัง มีการผลักดันหลักสูตรแบดมินตันเข้าไปในโรงเรียนประถมในชุมชน เพื่อให้ เควิน ได้เล่นแบดมินตัน และมีคู่แข่งที่อายุไล่เลี่ยกันเพิ่มขึ้น

เควิน จุดประกายให้หลายคนในชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญของแบดมินตันขึ้นมาบ้าง เขาฝึกจากศูนย์ฝึกที่เมืองบ้านเกิด ลา อูนิออน เป็นเวลาสามปี กวาดคู่แข่งรุ่นเดียวกันจนเกลี้ยง คาสตาเนด้า จึงแทงเรื่องราวของ “อนาคตวงการแบด” อย่าง เควิน ไปยังสหพันธ์แบดมินตันกัวเตมาลา ก่อนที่จะมีทีมงานแมวมองมาดูฟอร์มของ เควิน ด้วยตาตัวเอง 

แม้เทคนิคอาจจะยังทำได้ไม่ดี แต่เรื่องพื้นฐาน เควิน แน่นปึก ทุกคนมองเห็นความหวังจากฝีมือของเขา และสหพันธ์แบดฯ ก็ยื่นข้อเสนอให้ เควิน ที่ตอนนั้นอายุ 15 ปี ย้ายเข้ามาอยู่ที่เมืองหลวง เพื่อรับการฝึกที่ดีขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญคือสมาพันธ์จะส่งเขาไปแข่งในระดับทวีปโดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด และที่สำคัญ เขาจะได้โควต้าเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลกัวเตมาลาดูแลอีกด้วย 

“พ่อกับแม่ของผมงงมากที่รู้ว่าผมจะได้ไปยังที่ที่ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ พวกเขาไม่เคยคิดว่าแบดมินตันจะให้อะไรกับผมได้ พวกเขาไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้ด้วยซ้ำ สิ่งที่พ่อถามผมคือ ‘ตอบพ่อมา แกจะไปให้ถึงระดับโลกเลยใช่ไหม ? ถ้าแกตอบว่าใช่ พ่อจะให้แกรีบเก็บกระเป๋าแล้วเดินทางไปเมืองหลวงอย่างด่วนจี๋เลย'”

“ขณะที่แม่ของผมพูดคำสุดท้ายก่อนเดินทางว่า ‘สู้ให้เต็มที่ แล้วอย่าให้เหล้ากับยาเสพติดทำลายชีวิตแกล่ะ'” เควิน เล่าถึงการเปลี่ยนแปลง และการเริ่มเอาจริงเอาจังกับแบดมินตัน

เควิน ในช่วงอายุ 15 ปี ตอบรับข้อเสนอ และพร้อมทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง เขาต้องจากบ้าน ครอบครัว เพื่อนฝูง และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อไปเริ่มใหม่ที่สโมสรแบดภายใต้การดูแลของสหพันธ์  

ยิ่งฝึกซ้อม ยิ่งได้เปิดหูเปิดตาในการแข่งขันที่ต่างประเทศมากขึ้น เควิน ก็เข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาฝึกกันมาหลายปี ยังถือว่าห่างไกลจากชาติหัวแถวในวงการนี้ เขาสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าการไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน เกิดขึ้นจากการไร้การผลักดันที่จริงจัง วงการแบดของ กัวเตมาลา โดนทิ้งให้โดดเดี่ยว … นั่นคือสิ่งที่เขาสัมผัสเมื่อเริ่มโตขึ้น 

“ผมเข้าใจก็วันนี้ การฝึกของเราหากให้เปรียบเทียบกับเอเชียหรือยุโรป คุณจะเห็นความต่างได้ชัดมาก ๆ เลย นี่คือโลกแห่งความจริง เราซ้อมกันแทบตาย ยากมาก ๆ ในทุก ๆ วัน สิ่งที่เราต้องการคือการผลักดันให้นักแบดของเราออกไปเล่นในระดับนานาชาติให้ได้มากที่สุด”

“แต่ผมก็ทำเท่าที่ทำได้ ผมรู้ดีว่ากัวเตมาลามีปัญหามากกว่าเรื่องของกีฬา ความจริงก็คือเมื่อคุณอยู่บนโต๊ะประชุมและมีคนถามว่า เราจะเพิ่มงบส่งนักกีฬาแบดมินตันไปแข่งต่างประเทศ หรืออยากจะเอาไปแก้ปัญหาเรื่องอาหารและเด็กยากไร้มากกว่ากัน ? คำตอบคือสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว และมันทำให้บ่อยครั้งที่ผมไม่ได้ไปแข่งในต่างประเทศเลย”

เมื่อคนอื่นช่วยไม่ได้ ก็ต้องช่วยตัวเอง เควิน ผลักดันตัวเองและได้รับการยอมรับในระดับชาติ จากที่เก่งที่สุดในประเทศ กลายเป็นนักกีฬาที่เก่งที่สุดในทวีป และนั่นทำให้เขาได้รับเงินสนับสนุนมากขึ้น เขาถูกเชิญไปแข่งมากกว่าการสมัครเข้าแข่งขันเอง เควิน ชนะในรายการ แพนอเมริกันเกมส์ ได้เหรียญทองประเภทชายเดี่ยว 2 สมัยในปี 2011 และ 2015 นอกจากนี้ยังคว้าแชมป์แบดมินตันชิงแชมป์ทวีป ประเภทชายเดี่ยว 2 สมัย ชายคู่ 1 สมัย ส่วนการแข่งขันในแถบอเมริกากลางหรือ แคริบเบียน เควิน ชนะการแข่งขันมาแบบรัว ๆ จนมีจำนวนเหรียญทองสะสมทั้งประเภทชายเดี่ยวและชายคู่ถึง 8 เหรียญ 

แต่ถึงอย่างนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยหากมองในภาพรวม เพราะวงการแบดมินตันยังแทบไม่เคยได้ยินชื่อเขามาก่อน การแข่งขันในระดับทวีปอเมริกาถือว่าอ่อนชั้นเกินกว่าจะสร้างชื่อเสียงในวงกว้างได้ เควิน จึงต้องพยายามให้มากขึ้น ทั้งการหาผู้สนับสนุนและการพัฒนาฝีมือเพื่อไปให้ถึงระดับโลกได้ 

“ผมคิดสเต็ปต่อไป ผมอยากมีโอกาสได้ไปเล่นในโอลิมปิกสักครั้ง นอกจากจะเพิ่มชื่อเสียงแล้ว ผมยังมีโอกาสได้เงินมาช่วยเหลือครอบครัวด้วย” เควิน กล่าวหลังจากถูกเชิญไปแข่งโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง โดย ณ เวลานั้น กัวเตมาลา ยังไม่เคยคว้าเหรียญรางวัลในระดับโอลิมปิกได้เลยแม้แต่เหรียญเดียว

ยกระดับด้วยตัวเอง 

การแข่งขันที่ปักกิ่ง ล้มเหลว เควิน แพ้ตกรอบสอง (รอบแรกได้ชนะบาย) แต่ก็เป็นการจุดเชื้อไฟให้เขาพยายามมากกว่าเดิม ขอบเขตของเขาในตอนนี้ใหญ่เกินกว่าสหพันธ์แบดมินตันแห่งกัวเตมาลาแล้ว เควิน ก้าวไปอีกระดับ เขาจ้างโค้ชส่วนตัวที่เป็นชาวอินโดนีเซียที่ชื่อว่า มูอามาร์ กาดาฟี่ เข้ามาช่วยปรับวิธีการเล่นและเพิ่มเทคนิค สำหรับนักกีฬาที่ไม่เคยติดอันดับท็อป 100 อย่างเขา 

การเจอกับโค้ชใหม่ เป็นเหมือนการเริ่มฝึกฝนและเปลี่ยนแนวคิดกันใหม่ทั้งดุ้น เขาต้องเรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ใหม่ในวัยที่ไม่ใช่น้อยแล้ว อย่างไรก็ตามคนเราสามารถเรียนรู้ได้ในทุกวัน เขาค่อย ๆ ปรับระดับตัวเอง โดยใช้เวลาอยู่หลายปี บวกกับความผิดหวังอีกหลายครั้งในโอลิมปิก ทั้งตกรอบ 16 คน ในปี 2012 และบาดเจ็บต้องถอนตัวในรอบแบ่งกลุ่มเมื่อปี 2016 จนสุดท้ายก็มาถึงโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว 

เควิน มาพร้อมกับความมั่นใจและดวงในการจับฉลาก อย่างแรกเลยที่ต้องยอมรับคือ เขาไม่ได้เจอคู่แข่งที่เก่งกาจนักในรอบแบ่งกลุ่ม เขาชนะ หวู่ เจี้ยหลาง มือ 8 ของรายการจากฮ่องกง และ ลิโน่ มูนยอซ จากเม็กซิโก 2 เกมรวด ทั้ง 2 เกม ก่อนชนะ มาร์ค คัลชูว์ จาก เนเธอร์แลนด์ 2-1 เกม ในรอบ 16 คน และชนะ ฮยอ กวาง ฮี จาก เกาหลีใต้ 2 เกมรวด ในรอบ 8 คนสุดท้าย 

หลายคนอาจจะบอกว่าโชคมีส่วนอย่างมาก หากเขาเจอมือที่ดีกว่านี้คงไม่รอด … แต่โลกของกีฬาอย่าใช้คำว่า “ถ้า” มาตัดสิน ตัวของ เควิน ในวัย 34 ปี ทำได้ขนาดนี้ก็ต้องบอกว่าสุดยอดแล้ว 

ชื่อของเขาปรากฏบนหน้าสื่อมากมายแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน สื่อหลายเจ้าเรียกเขาว่า “ผู้จุดประกายแห่งความหวังของทวีปอเมริกา” เลยทีเดียว

นี่คือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเหรียญรางวัลด้วยซ้ำ เควิน พยายามทำสิ่งนี้มาตลอดตั้งแต่ตอนที่เขาหัดเล่นตอนอายุ 12 ปี … เขาใช้เวลา 22 ปี กว่าจะมาถึงตรงนี้ ทั้ง ๆ ที่เคยเจ็บหนักขนาดเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าขาดมาแล้ว สุดท้ายเขาก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการแบดมินตันของกัวเตมาลาจนได้ 

“การเปรียบเทียบระหว่างกัวเตมาลากับชาติในเอเชียหรือยุโรปนั้นมันยังคงห่างไกลเหมือนเดิม แต่มันก็ดีที่ทำให้เราได้เห็นความจริงที่ชัดขึ้น” เควิน กล่าว

“ผมไม่เคยคิดว่าผมจะได้เหรียญรางวัลเพราะมันยังห่าง ผมต้องเจอกับมือระดับโลกอีกเยอะ แต่เมื่อมีความหวังมันย่อมมีโอกาสเสมอ เราอาจจะด้อยเรื่องการฝึกและองค์ความรู้ แต่ผมจะใช้ความใจสู้เข้าแลก ผมจะไม่กลัวใคร และนี่คือสิ่งที่ทุกคนรู้ดี เมื่อคุณไม่กลัวใคร คุณก็มีโอกาสเสมอ” 

เควิน ผ่านไปถึงรอบ 4 คนสุดท้ายและจากนี้คือของของจริง เขาต้องเจอกับ วิคเตอร์ อักเซลเซ่น แชมป์โลกปี 2017 และมือวางอันดับท็อป 10 ของโลกมาตลอดระยะหลังจากเดนมาร์ก ก่อนที่เควินจะแพ้ไปตามระเบียบ 2 เกมรวด (ก่อนที่อักเซลเซ่นจะก้าวไปคว้าเหรียญทองในที่สุด) ปิดท้ายด้วยการแพ้ในรอบชิงเหรียญทองแดงกับ แอนโธนี่ ซินิซูกา กินติง จากอินโดนีเซีย 2 เกมรวด

เขาไม่ได้เหรียญรางวัลอะไรเลยที่โตเกียว แต่ที่กัวเตมาลา มีสิ่งหนึ่งที่ชาวกัวเตมาลาไม่เคยทำมาก่อนเกิดขึ้น นั่นคือผู้คนทั้งประเทศเปิดโทรทัศน์รอดูการถ่ายทอดสดของ เควิน จนดึกดื่น (ไทม์โซนห่างกัน 15 ชั่วโมง) และในทวิตเตอร์ ที่พูดถึงเขาก็มีข้อความให้กำลังใจเข้ามาอย่างล้นหลาม ในแบบที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อนอีกด้วย 

“มันไม่มีอะไรต้องผิดหวัง ตอนนี้ผมอยู่ท่ามกลางผู้เล่นที่ผมเคยดูผ่านโทรทัศน์เท่านั้น … ผมมาไกลมากเกินกว่าที่ผมคิดไว้ ผมฝึกฝนด้วยใจรักจริง ๆ ผมอดทนทุกวัน ๆ และมันแสดงให้ผมเห็นแล้วว่ามันไม่ได้สูญเปล่า อย่างน้อย ๆ มันทำให้คุณรู้ว่าเมื่อได้ทุ่มสุดตัว สิ่งดี ๆ จะต้องมาหาคุณในสักวัน” 

วงการแบดมินตันของกัวเตมาลา จะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน พวกเขาไม่เคยเข้าใกล้เหรียญขนาดนี้มาก่อน นับตั้งแต่เหรียญเงินเพียงหนึ่งเดียวในการแข่งขันกรีฑาสมัยโอลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน 

วันนี้ เควิน กอร์ดอน ทำเอาผู้คนทั้งประเทศลุกขึ้นมาดูการแข่งขันในยามดึกดื่น เชียร์กันใจหายใจคว่ำในทุกจังหวะ สร้างกระแสเชียร์นักกีฬาอื่นที่ไม่ใช่นักฟุตบอลแบบที่ไม่เคยมี… 

สำหรับเขา นี่คงเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายในชีวิตแล้ว แต่เขาได้จุดคบไฟแห่งความหวังและส่งต่อให้นักแบดมินตันในประเทศรุ่นต่อไปให้เห็นภาพของความสำเร็จที่ชัดขึ้นกว่าเดิม จากที่ไม่เคยมีฮีโร่ในวงการแบดมินตัน ตอนนี้พวกเขามีตัวอย่างแล้ว หาก เควิน กอร์ดอน ไม่ผลักดันตัวเองให้ก้าวไปอีกขั้นแบบที่เป็นอยู่ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่แบดมินตันในกัวเตมาลาจะได้รับความสนใจขนาดนี้

ในความพ่ายแพ้ก็มีข้อดีซ่อนอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าคุณจะหามันเจอและจับมันไปต่อยอดได้หรือไม่ ? … ถ้าทำได้ เส้นทางแห่งชัยชนะก็จะถูกขยับให้ใกล้ขึ้นมาอีกนิดแล้ว