สมาคมกีฬาแบดมินตันฯ สนใจดึงศึกตบลูกขนไก่ 3 รายการใหญ่ ซุปเปอร์ 1,000 จำนวน 2 รายการ และเวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ อีก 1 รายการ มาจัดในไทยช่วงเดือน พ.ย.นี้ หลังสหพันธ์แบดมินตันโลก กำลังมองหาเจ้าภาพในทวีปเอเชีย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ เชื่อมั่นศักยภาพของไทย รวมถึงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ไม่เป็นรองใคร ถ้าทั้ง รัฐบาล และเอกชน ร่วมสนับสนุนอีกทาง น่าจะทำให้ไทยมีโอกาสได้รับหน้าที่ครั้งสำคัญ แม้จะมี อินโดนีเซีย และฮ่องกง เสนอตัวมาแล้วก็ตาม
วันที่ 2 ก.ย.63 หลังจาก สหพันธ์แบดมินตันโลก จัดโปรแกรมการแข่งขันใหม่ ในช่วงที่เหลือของปี 2020 โดยมีเพียง 6 รายการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากเชื้อโควิด-19 เริ่มจากแบดมินตันทีมชายและทีมหญิงชิงแชมป์โลก “โธมัส & อูเบอร์ คัพ 2020” วันที่ 3-11 ต.ค.นี้ ที่เดนมาร์ก ต่อด้วยศึกเวิลด์ทัวร์ 2 รายการติดต่อกัน ที่เดนมาร์กเช่นกัน ส่วนอีก 3 รายการจะมาจัดในทวีปเอเชีย โดย 2 รายการแรกเป็นระดับซุปเปอร์ 1,000 ก่อนจะปิดท้ายด้วยศึกเวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ ในสัปดาห์ที่ 46, 47 และ 48 ตามลำดับ หรือช่วงเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการเลือกเจ้าภาพจัดการแข่งขันนั้น
ล่าสุด คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก ในฐานะนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ถือเป็นโอกาสดีที่สหพันธ์แบดมินตันโลกนำการแข่งขันแบดมินตันรายการใหญ่ ระดับซุปเปอร์ 1,000 มาแข่งขันในทวีปเอเชีย ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สหพันธ์ฯ ยินดีช่วยเหลือเรื่องค่าใช่จ่ายในการดำเนินการจัดมากที่สุด ทำให้ไทยโดยสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ มีความสนใจที่จะดึงการแข่งขันแบดมินตันทั้ง 3 รายการมาจัดที่ประเทศไทย
“คู่แข่งที่เสนอตัวสนใจอยากจะจัดการแข่งขันตอนนี้มีหลายประเทศ ทั้ง อินโดนีเซีย รวมไปถึงฮ่องกง แต่ที่น่ากลัวคือ อินโดนีเซีย เนื่องจากเขาพร้อมทุ่มเงินเพื่อดึงการแข่งขันทั้ง 3 รายการไปจัด อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้ดี และที่ผ่านมามีมาตรการควบคุมเป็นที่ยอมรับ ทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบในส่วนนี้ และเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสหพันธ์แบดมินตันโลก มั่นใจว่าไทยจะได้รับการคัดเลือก”
คุณหญิงปัทมา กล่าวต่อว่า แม้ว่าสหพันธ์แบดมินตันโลกจะช่วยออกค่าใช้จ่ายแล้วส่วนหนึ่ง แต่การจัดการแข่งขันทั้ง 3 รายการต้องใช้งบประมาณมหาศาล ดังนั้นนอกจากการหาผู้สนับสนุนจากภาคเอกชนแล้วต้องฝากไปถึงรัฐบาลให้เข้ามาช่วยสนับสนุนจัดการแข่งขันแบดมินตันทั้ง 3 รายการนี้ให้เกิดขึ้นในไทย เนื่องจากเป็นโอกาสดีที่ไม่ได้มีมาบ่อยๆ ที่การแข่งขันระดับซุปเปอร์ 1,000 จะได้มาจัดการแข่งขันในเมืองไทย
“ส่วนมาตการควบคุมป้องกันโควิด-19 จะมีมาตรการทั้งต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น กักตัว 14 วัน, ตรวจหาเชื้อ และหาโรงแรมที่พักแบบปิด ซึ่งจะต้องรองรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ได้จำนวนมาก ซึ่งจะมีนักแบดมินตันมือ 1-40 ของโลกเดินทางมาร่วมแข่งขัน ซึ่งโรงแรมดังกล่าวจะต้องมีสนามซ้อม สามารถเดินทางมาสนามแข่งขันได้สะดวก และจะมีการตรวจหาเชื้อโควิดทุกๆ 3 วัน ซึ่งนักกีฬาทั้งหมดที่จะเข้าร่วมการแข่งขัน 3 รายการ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และจะมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก” คุณหญิงปัทมา กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในการจัดการแข่งขัแบดมินตันทั้ง 3 รายการ ต้องใช้งบประมาณราว 300 ล้านบาท และสหพันธ์แบดมินตันโลกกำหนดให้สถานที่จัดการแข่งขันจะต้องมีคอร์ตแข่งขันจำนวน 4 สนาม มีเพดานสูง 12 เมตร และมีสนามซ้อมเพียงพอ.