น้อมรำลึกพระมหากษัตริย์นักกีฬา ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันด์
ตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่มีถวาย สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ขณะประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับพระราชโอรสและพระราชธิดา ระหว่างปีพุทธศักราช 2477-2478 ความว่า
“…นันทกับเล็กสกีหลายหน ทำเก่งกันทั้งคู่ เล็กยิ่งทำดีกว่านันท ทำน่าเอ็นดู ใครๆ เห็นเข้าก็งงงวย เพราะเล็กนิดเดียวทำได้ดีมาก…”
ไม่กี่ประโยคสั้นๆ ดังที่ได้ยกมา สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถในเชิงกีฬาของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ได้เป็นอย่างดี
…แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่พสกนิกรไทยอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร องค์ประมุขผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยจะทรงงานและปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมิหยุดหย่อน พระองค์ก็ไม่เคยละเลยกิจกรรมด้านการกีฬาซึ่งทรงถือว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานอันสำคัญยิ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เลย
ดังพระราชดำรัสซึ่งพระราชทานให้เชิญไปอ่านในการประชุมสัมมนาเรื่องการออกกำลังเรื่องสุขภาพ เมื่อวันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2523 ตอนหนึ่งว่า
“ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลย หรือใช้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อยๆ เสื่อมไปเป็นลำดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร”
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว มีการบันทึกพระชีพจรและความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้มิใช่เพียงรักษาพระพลานามัยเพื่อตัวพระองค์เอง แต่ยังเพื่อให้พระวรกายแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปดูแลทุกข์สุขของราษฎรทุกผู้อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยนั่นเอง
พระจริยวัตรด้านการกีฬาของพระองค์ได้รับการถ่ายทอดผ่านพระราชประวัติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมากมาย สมัยพระองค์ประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับพระมารดา พระเชษฐา และพระเชษฐภคินี เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยในกีฬาฤดูหนาวหลากหลายประเภท นอกจากจะโปรดการทรงสกีแล้ว พระองค์ยังทรงหัดสเก๊ตน้ำแข็ง เลื่อนหิมะ รวมทั้งเสด็จฯทอดพระเนตรการแข่งขันฮอคกี้น้ำแข็งด้วย
เมื่อเจริญพระชนมายุขึ้น พระองค์ทรงสนพระทัยกีฬาหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก หรือเครื่องร่อน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กีฬาที่โปรดนั้น จะไม่ใช่กีฬาที่ใช้แต่พละกำลังเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาศัยความรู้ความเข้าใจและเทคนิคไหวพริบประกอบกัน 2 กีฬาที่ต้องอาศัยทั้งพลังกาย พลังใจ และสมอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษคือ แบดมินตัน และเรือใบ โดยทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงนักกีฬาผู้มีวินัยและเคารพในกติกาอย่างเคร่งครัด
สำหรับกีฬาแบดมินตันนั้น นายเจริญ วรรธนะสิน อดีตนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ และอดีตนักหวดลูกขนไก่มือ 1 ของไทย เคยกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงมีต่อวงการแบดมินตันของไทยอย่างหาที่สุดมิได้ไว้คราหนึ่งว่า ในสมัยที่กีฬาแบดมินตันของประเทศไทยยังไม่พัฒนาสู่ระดับสากล เป็นเรื่องยากที่จะหางบประมาณสนับสนุน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีสายพระเนตรอันยาวไกลจะมีรับสั่งกับข้าราชบริพารใกล้ชิดเสมอว่า แบดมินตันเป็นหนึ่งในกีฬาไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถไต่เต้าสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบด้านรูปร่างและพละกำลังมากนัก
ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงรับสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อปี พ.ศ.2493 และนายเจริญได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาในประเทศอังกฤษ จนสามารถก้าวไปสู่ตำแหน่งรองแชมป์โลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กีฬาแบดมินตันของไทยก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยแท้
สำหรับพระองค์เองก็ทรงโปรดกีฬาชนิดนี้มากเช่นกัน และมิเพียงแค่ทรงแบดมินตันอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังทรงวิเคราะห์การเล่นของนักกีฬาชั้นนำของโลกแต่ละคนได้อย่างถ่องแท้ และพระราชทานคำแนะนำอันเป็นประโยชน์แก่นักกีฬาทุกคน
ตอนที่ทรงแบดมินตันกับนักกีฬาชั้นนำของไทยนั้น พระองค์ได้แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจนักกีฬา และพระจริยวัตรในแบบฉบับของนักกีฬาภายใต้กฎกติกาอย่างแท้จริง ดังที่นายเจริญเล่าไว้ตอนหนึ่งว่า เวลาพระองค์ทรงตีลูกเสีย หรือผู้ที่ถวายทรงตีลูกเสีย ก็จะไม่ทรงแสดงอาการกริ้วแต่อย่างใด
พระจริยวัตรเช่นนี้ยังปรากฏให้เห็นชัดเจนระหว่างทรงกีฬาที่พระองค์โปรดมากอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือ เรือใบ นั่นเอง พระปรีชาสามารถของพระองค์ไม่เพียงแค่พระอัจฉริยภาพในการทรงเรือเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงทักษะในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ ดังที่พระองค์ได้ทรงออกแบบเรือใบประเภทมด ซุปเปอร์มด และไมโครมด และได้จดสิทธิบัตรที่ประเทศอังกฤษ
เนื่องจากมีการจดสิทธิบัตรทุกครั้งที่มีการต่อเรือใบในตระกูล “มด” ขึ้นใหม่ (ตามแบบที่พระองค์พระราชทานกรมอู่ทหารเรือไว้) โดยส่วนใหญ่สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวนั้นจะนำเงินค่าลิขสิทธิ์ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้ง ซึ่งพระองค์เคยมีรับสั่งกับผู้ที่เข้าเฝ้าฯว่า “นี่น้ำพักน้ำแรงของฉัน ฉันจะเอาไว้ใช้ส่วนตัว”
…กีฬาเรือใบมิเพียงแค่จะเป็นกีฬาที่ผู้เล่นต้องแข่งขันกับตัวเองและคู่ต่อสู้เท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจและเอาชนะธรรมชาติให้ได้อีกด้วย
วันที่ 16 ธันวาคม ซึ่งวงการกีฬาไทยถือเป็นวันมหามงคลยิ่งนั้น คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถดังที่กล่าวมาอย่างแท้จริง โดยทรงเรือใบประเภทโอเคในฐานะตัวแทนนักกีฬาไทยเคียงข้าง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) ชนะเลิศร่วมกันในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ.2510
ครั้งนั้นทั้ง 2 พระองค์ปฏิบัติพระองค์เสมอภาคกับนักกีฬาจากชาติต่างๆ ทรงฝึกซ้อมอย่างหนักก่อนหน้าการแข่งขัน ทรงเรือฝ่าคลื่นลมด้วยความอุตสาหะพยายาม แม้เรือล่มก็ทรงพยายามกู้ขึ้นมาด้วยพระองค์เอง และครั้งหนึ่งในการแข่งขันรอบที่ 5 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม เรือทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอ้อมทุ่นผิด เป็นการผิดกติกา พระองค์ก็ทรงถอนพระองค์จากการแข่งขันรอบดังกล่าว ทั้งยังแย้มพระโอษฐ์ยอมรับการตัดสินโดยดุษณี
แม้วันนั้นจะผ่านมายาวนานเกือบ 50 ปีแล้ว พสกนิกรทุกคนยังคงรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระจริยวัตรขององค์พระประมุขของไทยได้อย่างแจ่มชัด รวมถึงปลาบปลื้มยินดีทุกครั้งที่ทราบว่าพระองค์ทรงติดตามการแข่งขันของนักกีฬาไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการกีฬา
ดังความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทซึ่งพระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และคณะนักกีฬายอดเยี่ยมประจำปี เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2514 ที่ว่า
“การกีฬาเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเป็นสำคัญส่วนหนึ่ง ประเทศใดที่มีนักกีฬาที่มีฝีมือและมีน้ำใจดีก็ทำให้ประเทศนั้นมีหน้าตา และแสดงถึงนิสัยใจคอประชาชนในประเทศนั้น”