Badminton Sponsored

แคโรลินา มาริน : แชมป์โลกหญิงที่ทำลายทฤษฎี “คนสเปนตีแบดมินตันไม่เป็น”

Badminton Sponsored
Badminton Sponsored

มีคำกล่าวอ้างกันในหลายชาติของยุโรป ถึงเหตุผลที่พวกเขาไม่มีนักแบดมินตันระดับแชมป์โลก และปล่อยให้เหล่าเทพจากเอเชียครองบัลลังก์มาเกือบ 30 ปี ว่า “เพราะพวกเราไม่จริงจัง”

เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่นั้นไม่สำคัญ เพราะในคนหมู่มากย่อมมีคนจำนวนหยิบมือที่แตกต่าง ในบรรดานักแบดมินตันอันดับโลกของฝ่ายหญิง ไม่มีนักแบดมินตันระดับท็อป 10 คนใดเลยที่มาจากยุโรป นอกจาก แคโรลินา มาริน นักหวดลูกขนไก่จากสเปน 

ในประเทศที่คนส่วนใหญ่ดูฟุตบอล, บาสเกตบอล, เทนนิส และรถแข่ง เหตุใด มาริน จึงหลุดมาวงการลูกขนไก่ และไปถึงขั้นเป็นแชมป์โลกได้ … 

นี่คือเรื่องราวความแหวกที่มาไกลจนน่าชื่นชม ติดตามเรื่องของเธอได้ที่นี่

ฝรั่งไม่ตีแบด 

สเปน คือสัญชาติของ แคโรลินา มาริน เธอเกิดที่เมือง อูเอลบา และที่นี่ “ไม่เล่นแบดมินตันจริงจัง” เหตุผลมันคล้าย ๆ กับที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป นอกจาก เดนมาร์ก ที่พวกเขาไม่เล่นแบบจริงจัง เพราะว่ามันไม่ได้รับความนิยม ได้เงินรางวัลน้อย และมีกีฬาอย่างอื่นที่จูงใจกว่า   

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์กีฬาสเปนยิ่งห่างไกลจากแบดมินตันไปใหญ่ ในปี 1934 ที่ชาติในยุโรปรวมตัวกันสร้างสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (สหพันธ์แบดมินตันโลก หรือ BWF ในปัจจุบัน) ก็เป็นการรวมตัวกันของ 9 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์, แคนาดา, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ กับ นิวซีแลนด์ แล้ว แคโรลินา มาริน หันมาเอาดีทางแบดมินตันได้อย่างไร ? เรื่องนี้แม้แต่เธอเองก็ยังตอบยาก เพราะเธอไม่มีแม้กระทั่งไอดอลในวงการแบดมินตันเลยด้วยซ้ำในวันที่เริ่มเล่น 


Photo : Marca 

“ฉันไม่เคยมีไอดอลแบดมินตันเลย มันอาจจะทำให้หลายคนประหลาดใจสักหน่อยสำหรับคำตอบนี้ แต่ไอดอลของฉันคือ ราฟาเอล นาดาล (นักเทนนิส) เราสองคนมีความคล้ายกันมาก คือเมื่ออยู่ในคอร์ท เราสู้ยิบตาจนกว่าจะตาย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ตาม” มาริน บอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจของเธอ และมันพอจะบอกได้ว่าที่สเปนนั้นหานักแบดเก่ง ๆ ในอดีตแทบไม่เจอ 

เรื่องราวแบดมินตันของเธอเริ่มขึ้นตอนอายุ 8 ขวบ ที่ อูเอลบา บ้านเกิดของเธอนั้น ถือเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการเต้นฟลาเมงโก้ เธอเองก็ถูกพ่อแม่ส่งให้เข้าคลาสเต้นเช่นกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้เดินเข้าไปในคอร์ทแบดมินตันที่เพื่อน ๆ เธอตีกันเล่น ๆ แม้เธอจะไม่เคยเห็นมันมาก่อน แต่ก็คิดว่ามันเป็นอะไรที่แปลกและน่าลองดี 

“วันที่เห็นคนเล่นแบดมินตันครั้งแรก ฉันคิดว่ามันเป็นกีฬาที่แปลกดี ในประเทศสเปน เราคุ้นเคยกับการดูเทนนิส และฉันเองก็เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาแบบที่ตีลูกรับส่งกันไปมา”

“พออายุได้ 12 ปี แม่บอกให้เลือกว่าฉันจะเรียนอะไรจริงจัง ระหว่างเต้นฟลาเมงโก้หรือแบดมินตัน ซึ่งตอนนั้นฉันกำลังไปได้ดี ได้เข้าไปแข่งชิงแชมป์ประเทศสเปนรุ่นอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีด้วย”


Photo : Badminton Photo

“เฟร์นานโด ริบาส โค้ชในวัยเด็กของฉัน ขอร้องพ่อกับแม่ของฉันว่า ให้ฉันเลือกเอาดีทางแบดมินตัน เพราะเขาเห็นบางสิ่งในตัวฉัน ซึ่งตอนนั้นมันไม่ง่ายเลย เพราะพ่อกับแม่กำลังตัดสินใจแยกทางกัน และฉันต้องตัดสินใจในตอนนั้นเลย” 

มาริน จึงเริ่มเอาจริงเอาจังตอนอายุ 14 ปี เธอย้ายจาก อูเอลบา ไปยัง มาดริด เมืองหลวงของประเทศ โค้ชริบาสซื้อใจเธอได้ด้วยคำพูดที่ว่า เธอจะไม่สามารถตัดสินใจช้ากว่านี้ได้แล้ว เพราะถ้าช้าไปเพียง 1-2 ปี เธอจะขาดความต่อเนื่อง และจะไม่มีวันไปถึงแชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิก นั่นจึงทำให้เธอทุ่มสุดตัวกับแบดมินตันตั้งแต่วันนั้น 

สเปนไม่ตีแบดมินตัน คือสิ่งที่ทุกคนเข้าในกัน และมันถูกต้อง แต่แค่ไม่ทั้งหมดเท่านั้นเอง มาริน เล่นจริง เจ็บจริงมาตั้งแต่วันนั้น แม้กระทั่งช่วงที่ต้องเรียนมหาวิทยาลัย เธอก็ยังให้การเล่นแบดมินตันเป็นงานหลัก และเรื่องเรียนเป็นงานรองลงมา เป้าหมายที่แน่วแน่นั้นสำคัญกว่าความนิยมของผู้คนในสังคม และเป้าหมายของ มาริน คือ “การเป็นแชมป์โลก”

นักฆ่าบนคอร์ทแบด 

คำว่าเอาจริงนั้นเอาจริงขนาดไหน ? คุณอาจจะต้องตกใจบ้าง … 7 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และ 6 วันต่อ 1 สัปดาห์ คือโปรแกรมการฝึกของ มาริน ที่เธอเปิดเผยในภายหลัง 


Photo : Scroll.in 

และนับตั้งแต่ มาริน มาเรียนและฝึกซ้อมที่ มาดริด พ่อและแม่ของเธอได้ตกลงกับโค้ช ริบาส อย่างชัดเจนว่า สามารถฝึกสอนลูกเธอทั้งเรื่องแบดมินตันและเรื่องวินัยได้เต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจ ดังนั้นตั้งแต่อายุ 14 ปี จนมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่โค้ช ริบาส ทำกับเธอบ่อยครั้งที่สุดคือการ “ด่าให้รู้สึก” และนั่นทำให้ มาริน เห็นข้อเสียของตัวเองทุกด้าน ไม่ใช่แค่การตีในคอร์ทเท่านั้น แค่การวอร์มอัพผิดท่า หรือวอร์มไม่ถึง โค้ช ริบาส จะไม่ยอมให้เธอลงสนามแน่นอน 

“พ่อกับแม่ฉันบอกกับโค้ชว่า คุณจัดเต็มได้เลยตามที่คุณเห็นสมควร ดังนั้นจึงพอบอกได้ว่าโค้ช ริบาส เป็นเหมือนพ่อแม่บ้างในบางมุม แต่มันไม่ได้แย่ สิ่งที่ดีที่สุดที่ได้ฝึกกับโค้ช คือฉันเห็นข้อเสียของตัวเอง และมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าตอนนั้นฉันไม่เคยเห็นหรือรู้สึกด้วยตัวเองเลย” มาริน กล่าว 

เธอถึงขั้นต้องจ้างนักจิตวิทยาการกีฬาถึง 2 คนได้แก่ มาเรีย มาร์ติเนซ และ ฟานี่ บาเรมบอม ทั้งสองนักจิตวิทยามีหน้าที่ที่จะทำให้เธอรู้สึกไม่มีอะไรติดค้างในการเลือกกีฬาแบดมินตัน รวมถึงการอยู่คนเดียวอย่างแข็งแกร่ง เพราะเธอมาที่ มาดริด แบบตัวคนเดียวและทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง 

“ฉันพบนักจิตวิทยาตั้งแต่อายุ 15 ปี ฉันต้องการรู้จักตัวเองให้ดีขึ้น ต้องการจัดการอารมณ์ของฉันในสนาม และในที่สุดฉันได้หลายสิ่งที่ฉันต้องการ หนึ่งในนั้นคือฉันรู้จักตัวเองดีมาก สิ่งใดที่ไม่ดีและติดค้างในร่างกายและจิตใจเหมือนกับเป็นสารพิษ ฉันสามารถกำจัดมันออกไปได้ และปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ” มาริน ว่าเช่นนั้น 

ส่วนในเรื่องการฝึกซ้อมของ มาริน นั้นได้รับอิทธิพลจากสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งมั่นคงแบบสุด ๆ อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น กีฬาชนิดนี้ไม่ได้ทำเงินมากมายนักหากเทียบกับเทนนิส แต่เธอเลือกแล้ว มันเหมือนกับคำที่อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินระดับโลกชาวไทยเคยกล่าวไว้ “ทุกอาชีพไม่มีไส้แห้ง ถ้าใจมึงสูงมึงก็รอด ถ้าใจมึงกระจอก มึงก็จน” นั่นแหละคือสิ่งที่ มาริน เป็น 


Photo : Scroll.in 

“ฉันฝึกร่างกายให้และจิตใจให้สัมพันธ์กัน ในกีฬาแบดมินตัน คุณทิ้งสิ่งไหนไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะความหนักหน่วงแข็งแกร่งในการเล่นเกมบุก หรือการใช้สมองในการอ่านเกม … ฉันใช้มันทั้งหมดนั่นแหละ ฉันเล่นแบบก้าวร้าว ชอบเป็นฝ่ายบุก หากถามว่าสไตล์ของฉันมันเป็นแบบไหน ก็เคยมีคนบอกกับฉันว่า ‘ในคอร์ทแบด ฉันคือนักฆ่าตัวจริงเสียงจริง'” 

เมื่อ มาริน อายุได้ 17 ปี การทุ่มสุดตัวของเธอก็เริ่มแสดงผล ความเก่งกาจที่ผ่านการฝึกแบบครบทั้งบู๊และบุ๋น ทำให้เธอกลายเป็นนักแบดมินตันคนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศสเปน ที่คว้าแชมป์ในศึกชิงแชมป์ยุโรปรุ่นเยาวชน  


Photo : News18 

ความยิ่งใหญ่ของเหรียญรางวัลนี้มีมากกว่าที่ใครหลายคนคิด ปกติแล้วในรายการระดับยุโรปนั้นแชมป์มักจะตกเป็นของนักแบดมินตันจากเดนมาร์ก เพราะที่นั่นมีการเล่นและฝึกกันแบบเป็นระบบตั้งแต่เยาวชน มาตั้งแต่ยุค 70s-80s 

อย่างไรก็ตามวงการแบดมินตันนั้นกว้างใหญ่ แชมป์ระดับเยาวชนเป็นเพียงการเปิดประตูสู่ระดับโลก เพราะในการแข่งขันระดับต่อไปคือการแข่งขันแบบชิงแชมป์โลก ในระดับนี้จะมีเหล่ามหาเทพจากเอเชียที่ตบเท้าเข้าชิงชัยกันมากมาย แล้วเหล่านักแบดจากฝั่งเอเชียนั้นถือว่าเป็นราชาแห่งวงการ หาก มาริน อยากไปถึงเป้าหมายระดับแชมป์โลกอย่างที่เธอฝันไว้ตั้งแต่เด็ก เธอจะต้องแข่งขันกับนักแบดมินตันที่ฝึกตีกันมาตั้งแต่ 8 ขวบ เข้าศูนย์ฝึกที่มีรัฐบาลหนุนหลัง เข้าแคมป์แบบกินนอนไม่ได้กลับบ้านกลับช่อง … โลกแห่งเวิลด์คลาส กำลังรอให้เธอได้พิสูจน์ตัวเอง

ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง 

ที่เคยคิดว่าฝึกหนักในช่วงเป็นเยาวชนแล้ว มาริน ต้องเจออะไรที่หนักยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า หนนี้เธอถึงกับบอกว่า โปรแกรมการฝึกสำหรับการก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลกและเหรียญทองโอลิมปิกนั้น คือความลับที่เธอไม่สามารถเปิดเผยที่ไหนได้ 

“ไม่มีใครจะสามารถจินตนาการได้เลยว่าการฝึกของฉันนั้นหนักและยากขนาดไหน มีคนเพียง 3 คนเท่านั้นที่รู้จักนรกที่ฉันเจอนั่นคือ โค้ชผู้ฝึกสอน, นักกายภาพบำบัด และ โค้ชด้านจิตวิทยา”

“แม้แต่คนในครอบครัวฉันก็ไม่สามารถนึกภาพออก เหตุผลที่ไม่มีใครรู้ก็เพราะว่า เราตัดสินใจจะเก็บมันไว้เป็นความลับ บอกได้แต่เพียงคร่าว ๆ ว่าชีวิตประจำวันของฉันมันยากขนาดที่ว่าแฟน และเพื่อน ๆ ของฉันต้องเข้าใจรูทีนนี้ ฉันแทบไม่มีเวลาให้พวกเขาเลย ฉันออกไปเที่ยวเล่นได้ไม่ค่อยนานนัก เพราะฉันต้องเข้านอนเร็ว ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้พร้อมสำหรับการซ้อมในเช้าวันรุ่งขึ้น … นี่คือกฎของฉัน แม้มันจะยาก แต่ทุกคนที่อยู่รอบตัวต้องพยายามเข้าใจมัน”


Photo : Explica 

“ฉันมีเพื่อนสนิทแค่หยิบมือเดียว และถ้าถามว่าฉันต้องการอีกไหม ฉันคงตอบว่าไม่ เพราะฉันไม่มีเวลา อันที่จริงแล้วการเชื่อมต่อกับผู้คนอื่น ๆ เป็นเรื่องที่สนุกนะ แต่พูดตรง ๆ ว่าฉันไม่ทำมันหรอก ฉันไม่มีแม้กระทั่งเวลาจะพบปะกับผู้คนใหม่เลย ๆ ด้วยซ้ำ” มาริน เผยเบื้องหลังการเสียสละเพื่อความยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เธอทำลายทฤษฎีนักแบดมินตันจากสเปนที่ไม่เคยมีใครทำได้ 

ในปี 2013 เธอกลายเป็นนักแบดมินตันคนแรกจากสเปนที่คว้าแชมป์รายการระดับ เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ก่อนที่ในปี 2014 เธอจะชนะ หลี่ เสี่ยวเร่ย จากจีน จนคว้าแชมป์โลกหญิงเดี่ยว พร้อมทำสถิติเป็นนักแบดมินตันหญิงสเปนคนแรกที่คว้าแชมป์โลก และเป็นนักแบดจากยุโรปคนที่ 3 ต่อจาก เลเน ค็อปเพน และ คามิลล่า มาร์ติน พร้อมทั้งสถิตินักแบดมินตันหญิงจากทวีปยุโรปที่คว้าแชมป์โลกด้วยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ (21 ปี) 

แรงดีไม่มีตก …จะบอกอย่างงั้นก็ว่าได้ มาริน เดินสายกวาดเหรียญทองทั่วยุโรป และคว้าแชมป์โลกแบดมินตันสมัยที่ 2 ติดต่อกันในปี 2015 ตามด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทหญิงเดี่ยวในการแข่งขันปี 2016 โดยในช่วงเวลา 2 ปีที่เป็นยุคทองของ มาริน นี้ เธอได้ใช้เวลาสั้น ๆ ในการมาฝึกฝีมือที่ศูนย์ฝึกแบดมินตันบ้านทองหยอด ศูนย์ฝึกอันดับ 1 ของประเทศไทยที่เคยสร้างแชมป์โลกอย่าง รัชนก อินทนนท์ (คว้าแชมป์โลกปี 2013) อีกด้วย 

ตั้งแต่ปี 2013 ที่เริ่มแข่งในระดับโลก มาริน ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และสมควรถูกเรียกว่าเบอร์ 1 ของโลกได้อย่างเต็มปาก ไม่มีนักแบดมินตันหญิงคนไหนอีกแล้วในยุโรปที่จะสบความสำเร็จเท่าเธอ ทุกแชมป์ในทวีป แชมป์โลก 3 สมัย และเหรียญทองโอลิมปิกอีก 1 สมัย คือสิ่งที่ยืนยันความสามารถของ แคโรลินา มาริน ได้เป็นอย่างดี 


Photo : Explica 

แม้ในช่วงปี 2019-20 จะถือว่าเป็นปีที่ย่ำแย่ เพราะเธอประสบกับอาการบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าหรือ ACL ฉีกขาด จนต้องผ่าตัดและพักฟื้น โดยใช้เวลานานถึง 8 เดือนกว่าจะทำให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์แบบเก่า หากมองในแง่ร้าย มันคือช่วงเวลาที่เธอสูญเสียตำแหน่งมือ 1 ของโลกไป และทำให้การพัฒนาหยุดชะงัก แต่ในปี 2020 ที่ผ่านมา วงการกีฬาทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนทำให้ต้องยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันออกไปหลายรายการ ซึ่งนั่นทำให้เป็นช่วงเวลาที่ มาริน ได้เวลาพักแบบเต็มรูปแบบ เพราะการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ก็หยุดพอดี ทำให้เป็นการบาดเจ็บและพักฟื้นที่ถือว่า “ถูกเวลา” ในโชคร้ายยังพอมีโชคดีอยู่บ้าง 

การพักฟื้นพร้อม ๆ กับโควิด ทำให้ มาริน สามารถกลับมาลงเล่นรายการระดับโลกในปี 2021 รายการแรก (ซึ่งเป็นโปรแกรมตกค้าง ปิดฤดูกาล 2020) ได้อย่างทันท่วงที และการกลับมาหนนี้ เธอคว้าแชมป์รายการระดับซูเปอร์ 1000 โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น โดยการเอาชนะมือ 1 ของโลกจากจีนอย่าง ไท่ ซื่อ ยิง ที่สำคัญ มาริน ไม่เสียเกมให้กับคู่แข่งเลยแม้แต่เกมเดียวตลอดทั้งทัวร์นาเม้นต์ 

ไม่ว่าจะตอนเริ่ม ตอนหยุดชะงัก หรือตอนกลับมาใหม่ มาริน ยังคงเดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์และคว้าแชมป์มากมายหลายรายการมาครอง แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างมรดกให้กับวงการแบดมินตันของ สเปน โดยแท้จริง

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรก ก่อนที่เธอจะเลือกเส้นทางนี้ มีเด็กน้อยไม่กี่คนในสเปนที่เลือกแบดมินตันเหนือกีฬาอื่น ๆ แต่หลังจากที่ มาริน กลายเป็นนักแบดมินตันระดับแชมป์โลก และคว้าเหรียญทองในโอลิมปิก กระแส มาริน ฟีเวอร์ ก็เกิดขึ้น สื่อสเปนกลับมาให้ความสนใจในกีฬาชนิดนี้ และเต็มใจแบ่งพาดหัวให้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนนี้จากที่เธอเคยตั้งเป้าว่าจะเป็นแชมป์โลกในวัยเด็ก เธอมีความฝันใหม่ที่ใหญ่กว่านั้นแล้ว นั่นคือการทำให้ สเปน กลายเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับแบดมินตันมากขึ้น 

“ฉันได้รับความสนใจจากสื่อสเปนเยอะมากตั้งแต่ได้แชมป์โลกครั้งแรก ทุกคนรู้ดีว่าที่สเปน แบดมินตันคือกีฬาที่แทบไม่มีความนิยมเลย แต่ตอนนี้หลายสิ่งกำลังเปลี่ยนไป ใคร ๆ ก็รู้จักฉันมากขึ้น คนสเปนตามข่าวและผลการแข่งขันของฉันตลอด แต่เชื่อเถอะว่าฉันและคนอื่น ๆ ในวงการแบดมินตันต้องทำอะไรให้ได้มากกว่านี้ … ถ้าเราพยายามทุ่มกันสุดตัวจริง ๆ ไม่แน่ว่าเราจะแสดงให้โลกได้เห็นว่า สเปนไม่ได้มีดีแค่ฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น” มาริน กล่าวในปี 2020 


Photo : France24

“ตอนนี้ฉันไม่มีเรื่องการแขวนแร็คเก็ตในหัวสมอง ฉันอยากจะเล่นต่อไปอย่างน้อยอีก 8 ปี ฉันต้องการไปโอลิมปิกอีก 2 ครั้ง และอยู่บนจุดสูงสุดของวงการให้ได้นานที่สุด”

“แต่การจะไปถึงจุดหมายที่กล่าวมาได้ ต้องใช้อย่างอื่นมากกว่าคำพูด คุณต้องฟิตร่างกายของคุณให้ดีเสมอ คุณต้องมีสภาพจิตใจที่พร้อมวิ่งชนกับความกดดัน คุณต้องมีสมาธิและวินัยพอที่จะรักษามาตรฐาน นั่นคือเป้าหมายที่ตั้งไว้” 

เด็กสาวที่ก้าวสู่จุดสูงสุดจากประเทศที่ความรู้ในวงการแบดมินตันเป็นรองแบบสุดกู่ จึงเป็นการประกาศศักยภาพของเธอ รวมถึงการพิสูจน์อะไรบางอย่างได้ว่า สภาพแวดล้อมแค่สิ่งส่งเสริม แต่แรงผลักดันที่สำคัญที่สุดนั้นเกิดจากตัวเอง

แคโรลินา มาริน ผลักดันขีดความสามารถของเธอ และความสามารถนั้นก็พาเธอไปลุยทั่วโลก จนได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ สร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีใครสามารถบันทึกได้ … ไม่ว่าจากนี้ มาริน จะคว้าแชมป์โลกได้อีกหรือไม่ แต่สำหรับวงการแบดมินตันของสเปน, ยุโรป และระดับโลก จะไม่มีทางลืมชื่อเธอแน่ นักแบดมินตันหญิงที่เก่งที่สุด และเสียงดังที่สุดอย่างเธอ จะเป็นตำนานบทใหม่ ที่ไม่ว่าใครก็อยากจะก้าวข้ามความสำเร็จครั้งนี้ … 

Badminton Sponsored
แบดมินตัน

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.