มีคำกล่าวอ้างกันในหลายชาติของยุโรป ถึงเหตุผลที่พวกเขาไม่มีนักแบดมินตันระดับแชมป์โลก และปล่อยให้เหล่าเทพจากเอเชียครองบัลลังก์มาเกือบ 30 ปี ว่า “เพราะพวกเราไม่จริงจัง”
เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่นั้นไม่สำคัญ เพราะในคนหมู่มากย่อมมีคนจำนวนหยิบมือที่แตกต่าง ในบรรดานักแบดมินตันอันดับโลกของฝ่ายหญิง ไม่มีนักแบดมินตันระดับท็อป 10 คนใดเลยที่มาจากยุโรป นอกจาก แคโรลินา มาริน นักหวดลูกขนไก่จากสเปน
ในประเทศที่คนส่วนใหญ่ดูฟุตบอล, บาสเกตบอล, เทนนิส และรถแข่ง เหตุใด มาริน จึงหลุดมาวงการลูกขนไก่ และไปถึงขั้นเป็นแชมป์โลกได้ …
นี่คือเรื่องราวความแหวกที่มาไกลจนน่าชื่นชม ติดตามเรื่องของเธอได้ที่นี่
ฝรั่งไม่ตีแบด
สเปน คือสัญชาติของ แคโรลินา มาริน เธอเกิดที่เมือง อูเอลบา และที่นี่ “ไม่เล่นแบดมินตันจริงจัง” เหตุผลมันคล้าย ๆ กับที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป นอกจาก เดนมาร์ก ที่พวกเขาไม่เล่นแบบจริงจัง เพราะว่ามันไม่ได้รับความนิยม ได้เงินรางวัลน้อย และมีกีฬาอย่างอื่นที่จูงใจกว่า
นอกจากนี้ประวัติศาสตร์กีฬาสเปนยิ่งห่างไกลจากแบดมินตันไปใหญ่ ในปี 1934 ที่ชาติในยุโรปรวมตัวกันสร้างสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (สหพันธ์แบดมินตันโลก หรือ BWF ในปัจจุบัน) ก็เป็นการรวมตัวกันของ 9 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ, สก็อตแลนด์, เวลส์, แคนาดา, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ กับ นิวซีแลนด์ แล้ว แคโรลินา มาริน หันมาเอาดีทางแบดมินตันได้อย่างไร ? เรื่องนี้แม้แต่เธอเองก็ยังตอบยาก เพราะเธอไม่มีแม้กระทั่งไอดอลในวงการแบดมินตันเลยด้วยซ้ำในวันที่เริ่มเล่น
Photo : Marca
“ฉันไม่เคยมีไอดอลแบดมินตันเลย มันอาจจะทำให้หลายคนประหลาดใจสักหน่อยสำหรับคำตอบนี้ แต่ไอดอลของฉันคือ ราฟาเอล นาดาล (นักเทนนิส) เราสองคนมีความคล้ายกันมาก คือเมื่ออยู่ในคอร์ท เราสู้ยิบตาจนกว่าจะตาย ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ตาม” มาริน บอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจของเธอ และมันพอจะบอกได้ว่าที่สเปนนั้นหานักแบดเก่ง ๆ ในอดีตแทบไม่เจอ
เรื่องราวแบดมินตันของเธอเริ่มขึ้นตอนอายุ 8 ขวบ ที่ อูเอลบา บ้านเกิดของเธอนั้น ถือเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการเต้นฟลาเมงโก้ เธอเองก็ถูกพ่อแม่ส่งให้เข้าคลาสเต้นเช่นกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอได้เดินเข้าไปในคอร์ทแบดมินตันที่เพื่อน ๆ เธอตีกันเล่น ๆ แม้เธอจะไม่เคยเห็นมันมาก่อน แต่ก็คิดว่ามันเป็นอะไรที่แปลกและน่าลองดี
“วันที่เห็นคนเล่นแบดมินตันครั้งแรก ฉันคิดว่ามันเป็นกีฬาที่แปลกดี ในประเทศสเปน เราคุ้นเคยกับการดูเทนนิส และฉันเองก็เป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาแบบที่ตีลูกรับส่งกันไปมา”
“พออายุได้ 12 ปี แม่บอกให้เลือกว่าฉันจะเรียนอะไรจริงจัง ระหว่างเต้นฟลาเมงโก้หรือแบดมินตัน ซึ่งตอนนั้นฉันกำลังไปได้ดี ได้เข้าไปแข่งชิงแชมป์ประเทศสเปนรุ่นอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีด้วย”
Photo : Badminton Photo
“เฟร์นานโด ริบาส โค้ชในวัยเด็กของฉัน ขอร้องพ่อกับแม่ของฉันว่า ให้ฉันเลือกเอาดีทางแบดมินตัน เพราะเขาเห็นบางสิ่งในตัวฉัน ซึ่งตอนนั้นมันไม่ง่ายเลย เพราะพ่อกับแม่กำลังตัดสินใจแยกทางกัน และฉันต้องตัดสินใจในตอนนั้นเลย”
มาริน จึงเริ่มเอาจริงเอาจังตอนอายุ 14 ปี เธอย้ายจาก อูเอลบา ไปยัง มาดริด เมืองหลวงของประเทศ โค้ชริบาสซื้อใจเธอได้ด้วยคำพูดที่ว่า เธอจะไม่สามารถตัดสินใจช้ากว่านี้ได้แล้ว เพราะถ้าช้าไปเพียง 1-2 ปี เธอจะขาดความต่อเนื่อง และจะไม่มีวันไปถึงแชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิก นั่นจึงทำให้เธอทุ่มสุดตัวกับแบดมินตันตั้งแต่วันนั้น
สเปนไม่ตีแบดมินตัน คือสิ่งที่ทุกคนเข้าในกัน และมันถูกต้อง แต่แค่ไม่ทั้งหมดเท่านั้นเอง มาริน เล่นจริง เจ็บจริงมาตั้งแต่วันนั้น แม้กระทั่งช่วงที่ต้องเรียนมหาวิทยาลัย เธอก็ยังให้การเล่นแบดมินตันเป็นงานหลัก และเรื่องเรียนเป็นงานรองลงมา เป้าหมายที่แน่วแน่นั้นสำคัญกว่าความนิยมของผู้คนในสังคม และเป้าหมายของ มาริน คือ “การเป็นแชมป์โลก”
นักฆ่าบนคอร์ทแบด
คำว่าเอาจริงนั้นเอาจริงขนาดไหน ? คุณอาจจะต้องตกใจบ้าง … 7 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และ 6 วันต่อ 1 สัปดาห์ คือโปรแกรมการฝึกของ มาริน ที่เธอเปิดเผยในภายหลัง
Photo : Scroll.in
และนับตั้งแต่ มาริน มาเรียนและฝึกซ้อมที่ มาดริด พ่อและแม่ของเธอได้ตกลงกับโค้ช ริบาส อย่างชัดเจนว่า สามารถฝึกสอนลูกเธอทั้งเรื่องแบดมินตันและเรื่องวินัยได้เต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจ ดังนั้นตั้งแต่อายุ 14 ปี จนมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่โค้ช ริบาส ทำกับเธอบ่อยครั้งที่สุดคือการ “ด่าให้รู้สึก” และนั่นทำให้ มาริน เห็นข้อเสียของตัวเองทุกด้าน ไม่ใช่แค่การตีในคอร์ทเท่านั้น แค่การวอร์มอัพผิดท่า หรือวอร์มไม่ถึง โค้ช ริบาส จะไม่ยอมให้เธอลงสนามแน่นอน
“พ่อกับแม่ฉันบอกกับโค้ชว่า คุณจัดเต็มได้เลยตามที่คุณเห็นสมควร ดังนั้นจึงพอบอกได้ว่าโค้ช ริบาส เป็นเหมือนพ่อแม่บ้างในบางมุม แต่มันไม่ได้แย่ สิ่งที่ดีที่สุดที่ได้ฝึกกับโค้ช คือฉันเห็นข้อเสียของตัวเอง และมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าตอนนั้นฉันไม่เคยเห็นหรือรู้สึกด้วยตัวเองเลย” มาริน กล่าว
เธอถึงขั้นต้องจ้างนักจิตวิทยาการกีฬาถึง 2 คนได้แก่ มาเรีย มาร์ติเนซ และ ฟานี่ บาเรมบอม ทั้งสองนักจิตวิทยามีหน้าที่ที่จะทำให้เธอรู้สึกไม่มีอะไรติดค้างในการเลือกกีฬาแบดมินตัน รวมถึงการอยู่คนเดียวอย่างแข็งแกร่ง เพราะเธอมาที่ มาดริด แบบตัวคนเดียวและทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง
“ฉันพบนักจิตวิทยาตั้งแต่อายุ 15 ปี ฉันต้องการรู้จักตัวเองให้ดีขึ้น ต้องการจัดการอารมณ์ของฉันในสนาม และในที่สุดฉันได้หลายสิ่งที่ฉันต้องการ หนึ่งในนั้นคือฉันรู้จักตัวเองดีมาก สิ่งใดที่ไม่ดีและติดค้างในร่างกายและจิตใจเหมือนกับเป็นสารพิษ ฉันสามารถกำจัดมันออกไปได้ และปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ” มาริน ว่าเช่นนั้น
ส่วนในเรื่องการฝึกซ้อมของ มาริน นั้นได้รับอิทธิพลจากสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งมั่นคงแบบสุด ๆ อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น กีฬาชนิดนี้ไม่ได้ทำเงินมากมายนักหากเทียบกับเทนนิส แต่เธอเลือกแล้ว มันเหมือนกับคำที่อาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินระดับโลกชาวไทยเคยกล่าวไว้ “ทุกอาชีพไม่มีไส้แห้ง ถ้าใจมึงสูงมึงก็รอด ถ้าใจมึงกระจอก มึงก็จน” นั่นแหละคือสิ่งที่ มาริน เป็น
Photo : Scroll.in
“ฉันฝึกร่างกายให้และจิตใจให้สัมพันธ์กัน ในกีฬาแบดมินตัน คุณทิ้งสิ่งไหนไม่ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะความหนักหน่วงแข็งแกร่งในการเล่นเกมบุก หรือการใช้สมองในการอ่านเกม … ฉันใช้มันทั้งหมดนั่นแหละ ฉันเล่นแบบก้าวร้าว ชอบเป็นฝ่ายบุก หากถามว่าสไตล์ของฉันมันเป็นแบบไหน ก็เคยมีคนบอกกับฉันว่า ‘ในคอร์ทแบด ฉันคือนักฆ่าตัวจริงเสียงจริง'”
เมื่อ มาริน อายุได้ 17 ปี การทุ่มสุดตัวของเธอก็เริ่มแสดงผล ความเก่งกาจที่ผ่านการฝึกแบบครบทั้งบู๊และบุ๋น ทำให้เธอกลายเป็นนักแบดมินตันคนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศสเปน ที่คว้าแชมป์ในศึกชิงแชมป์ยุโรปรุ่นเยาวชน
Photo : News18
ความยิ่งใหญ่ของเหรียญรางวัลนี้มีมากกว่าที่ใครหลายคนคิด ปกติแล้วในรายการระดับยุโรปนั้นแชมป์มักจะตกเป็นของนักแบดมินตันจากเดนมาร์ก เพราะที่นั่นมีการเล่นและฝึกกันแบบเป็นระบบตั้งแต่เยาวชน มาตั้งแต่ยุค 70s-80s
อย่างไรก็ตามวงการแบดมินตันนั้นกว้างใหญ่ แชมป์ระดับเยาวชนเป็นเพียงการเปิดประตูสู่ระดับโลก เพราะในการแข่งขันระดับต่อไปคือการแข่งขันแบบชิงแชมป์โลก ในระดับนี้จะมีเหล่ามหาเทพจากเอเชียที่ตบเท้าเข้าชิงชัยกันมากมาย แล้วเหล่านักแบดจากฝั่งเอเชียนั้นถือว่าเป็นราชาแห่งวงการ หาก มาริน อยากไปถึงเป้าหมายระดับแชมป์โลกอย่างที่เธอฝันไว้ตั้งแต่เด็ก เธอจะต้องแข่งขันกับนักแบดมินตันที่ฝึกตีกันมาตั้งแต่ 8 ขวบ เข้าศูนย์ฝึกที่มีรัฐบาลหนุนหลัง เข้าแคมป์แบบกินนอนไม่ได้กลับบ้านกลับช่อง … โลกแห่งเวิลด์คลาส กำลังรอให้เธอได้พิสูจน์ตัวเอง
ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง
ที่เคยคิดว่าฝึกหนักในช่วงเป็นเยาวชนแล้ว มาริน ต้องเจออะไรที่หนักยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า หนนี้เธอถึงกับบอกว่า โปรแกรมการฝึกสำหรับการก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลกและเหรียญทองโอลิมปิกนั้น คือความลับที่เธอไม่สามารถเปิดเผยที่ไหนได้
“ไม่มีใครจะสามารถจินตนาการได้เลยว่าการฝึกของฉันนั้นหนักและยากขนาดไหน มีคนเพียง 3 คนเท่านั้นที่รู้จักนรกที่ฉันเจอนั่นคือ โค้ชผู้ฝึกสอน, นักกายภาพบำบัด และ โค้ชด้านจิตวิทยา”
“แม้แต่คนในครอบครัวฉันก็ไม่สามารถนึกภาพออก เหตุผลที่ไม่มีใครรู้ก็เพราะว่า เราตัดสินใจจะเก็บมันไว้เป็นความลับ บอกได้แต่เพียงคร่าว ๆ ว่าชีวิตประจำวันของฉันมันยากขนาดที่ว่าแฟน และเพื่อน ๆ ของฉันต้องเข้าใจรูทีนนี้ ฉันแทบไม่มีเวลาให้พวกเขาเลย ฉันออกไปเที่ยวเล่นได้ไม่ค่อยนานนัก เพราะฉันต้องเข้านอนเร็ว ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้พร้อมสำหรับการซ้อมในเช้าวันรุ่งขึ้น … นี่คือกฎของฉัน แม้มันจะยาก แต่ทุกคนที่อยู่รอบตัวต้องพยายามเข้าใจมัน”
Photo : Explica
“ฉันมีเพื่อนสนิทแค่หยิบมือเดียว และถ้าถามว่าฉันต้องการอีกไหม ฉันคงตอบว่าไม่ เพราะฉันไม่มีเวลา อันที่จริงแล้วการเชื่อมต่อกับผู้คนอื่น ๆ เป็นเรื่องที่สนุกนะ แต่พูดตรง ๆ ว่าฉันไม่ทำมันหรอก ฉันไม่มีแม้กระทั่งเวลาจะพบปะกับผู้คนใหม่เลย ๆ ด้วยซ้ำ” มาริน เผยเบื้องหลังการเสียสละเพื่อความยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เธอทำลายทฤษฎีนักแบดมินตันจากสเปนที่ไม่เคยมีใครทำได้
ในปี 2013 เธอกลายเป็นนักแบดมินตันคนแรกจากสเปนที่คว้าแชมป์รายการระดับ เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ก่อนที่ในปี 2014 เธอจะชนะ หลี่ เสี่ยวเร่ย จากจีน จนคว้าแชมป์โลกหญิงเดี่ยว พร้อมทำสถิติเป็นนักแบดมินตันหญิงสเปนคนแรกที่คว้าแชมป์โลก และเป็นนักแบดจากยุโรปคนที่ 3 ต่อจาก เลเน ค็อปเพน และ คามิลล่า มาร์ติน พร้อมทั้งสถิตินักแบดมินตันหญิงจากทวีปยุโรปที่คว้าแชมป์โลกด้วยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ (21 ปี)
แรงดีไม่มีตก …จะบอกอย่างงั้นก็ว่าได้ มาริน เดินสายกวาดเหรียญทองทั่วยุโรป และคว้าแชมป์โลกแบดมินตันสมัยที่ 2 ติดต่อกันในปี 2015 ตามด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกประเภทหญิงเดี่ยวในการแข่งขันปี 2016 โดยในช่วงเวลา 2 ปีที่เป็นยุคทองของ มาริน นี้ เธอได้ใช้เวลาสั้น ๆ ในการมาฝึกฝีมือที่ศูนย์ฝึกแบดมินตันบ้านทองหยอด ศูนย์ฝึกอันดับ 1 ของประเทศไทยที่เคยสร้างแชมป์โลกอย่าง รัชนก อินทนนท์ (คว้าแชมป์โลกปี 2013) อีกด้วย
ตั้งแต่ปี 2013 ที่เริ่มแข่งในระดับโลก มาริน ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว และสมควรถูกเรียกว่าเบอร์ 1 ของโลกได้อย่างเต็มปาก ไม่มีนักแบดมินตันหญิงคนไหนอีกแล้วในยุโรปที่จะสบความสำเร็จเท่าเธอ ทุกแชมป์ในทวีป แชมป์โลก 3 สมัย และเหรียญทองโอลิมปิกอีก 1 สมัย คือสิ่งที่ยืนยันความสามารถของ แคโรลินา มาริน ได้เป็นอย่างดี
Photo : Explica
แม้ในช่วงปี 2019-20 จะถือว่าเป็นปีที่ย่ำแย่ เพราะเธอประสบกับอาการบาดเจ็บที่เอ็นไขว้หน้าหรือ ACL ฉีกขาด จนต้องผ่าตัดและพักฟื้น โดยใช้เวลานานถึง 8 เดือนกว่าจะทำให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์แบบเก่า หากมองในแง่ร้าย มันคือช่วงเวลาที่เธอสูญเสียตำแหน่งมือ 1 ของโลกไป และทำให้การพัฒนาหยุดชะงัก แต่ในปี 2020 ที่ผ่านมา วงการกีฬาทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนทำให้ต้องยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันออกไปหลายรายการ ซึ่งนั่นทำให้เป็นช่วงเวลาที่ มาริน ได้เวลาพักแบบเต็มรูปแบบ เพราะการแข่งขันรายการใหญ่ ๆ ก็หยุดพอดี ทำให้เป็นการบาดเจ็บและพักฟื้นที่ถือว่า “ถูกเวลา” ในโชคร้ายยังพอมีโชคดีอยู่บ้าง
การพักฟื้นพร้อม ๆ กับโควิด ทำให้ มาริน สามารถกลับมาลงเล่นรายการระดับโลกในปี 2021 รายการแรก (ซึ่งเป็นโปรแกรมตกค้าง ปิดฤดูกาล 2020) ได้อย่างทันท่วงที และการกลับมาหนนี้ เธอคว้าแชมป์รายการระดับซูเปอร์ 1000 โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น โดยการเอาชนะมือ 1 ของโลกจากจีนอย่าง ไท่ ซื่อ ยิง ที่สำคัญ มาริน ไม่เสียเกมให้กับคู่แข่งเลยแม้แต่เกมเดียวตลอดทั้งทัวร์นาเม้นต์
ไม่ว่าจะตอนเริ่ม ตอนหยุดชะงัก หรือตอนกลับมาใหม่ มาริน ยังคงเดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์และคว้าแชมป์มากมายหลายรายการมาครอง แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างมรดกให้กับวงการแบดมินตันของ สเปน โดยแท้จริง
อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรก ก่อนที่เธอจะเลือกเส้นทางนี้ มีเด็กน้อยไม่กี่คนในสเปนที่เลือกแบดมินตันเหนือกีฬาอื่น ๆ แต่หลังจากที่ มาริน กลายเป็นนักแบดมินตันระดับแชมป์โลก และคว้าเหรียญทองในโอลิมปิก กระแส มาริน ฟีเวอร์ ก็เกิดขึ้น สื่อสเปนกลับมาให้ความสนใจในกีฬาชนิดนี้ และเต็มใจแบ่งพาดหัวให้แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตอนนี้จากที่เธอเคยตั้งเป้าว่าจะเป็นแชมป์โลกในวัยเด็ก เธอมีความฝันใหม่ที่ใหญ่กว่านั้นแล้ว นั่นคือการทำให้ สเปน กลายเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับแบดมินตันมากขึ้น
“ฉันได้รับความสนใจจากสื่อสเปนเยอะมากตั้งแต่ได้แชมป์โลกครั้งแรก ทุกคนรู้ดีว่าที่สเปน แบดมินตันคือกีฬาที่แทบไม่มีความนิยมเลย แต่ตอนนี้หลายสิ่งกำลังเปลี่ยนไป ใคร ๆ ก็รู้จักฉันมากขึ้น คนสเปนตามข่าวและผลการแข่งขันของฉันตลอด แต่เชื่อเถอะว่าฉันและคนอื่น ๆ ในวงการแบดมินตันต้องทำอะไรให้ได้มากกว่านี้ … ถ้าเราพยายามทุ่มกันสุดตัวจริง ๆ ไม่แน่ว่าเราจะแสดงให้โลกได้เห็นว่า สเปนไม่ได้มีดีแค่ฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น” มาริน กล่าวในปี 2020
Photo : France24
“ตอนนี้ฉันไม่มีเรื่องการแขวนแร็คเก็ตในหัวสมอง ฉันอยากจะเล่นต่อไปอย่างน้อยอีก 8 ปี ฉันต้องการไปโอลิมปิกอีก 2 ครั้ง และอยู่บนจุดสูงสุดของวงการให้ได้นานที่สุด”
“แต่การจะไปถึงจุดหมายที่กล่าวมาได้ ต้องใช้อย่างอื่นมากกว่าคำพูด คุณต้องฟิตร่างกายของคุณให้ดีเสมอ คุณต้องมีสภาพจิตใจที่พร้อมวิ่งชนกับความกดดัน คุณต้องมีสมาธิและวินัยพอที่จะรักษามาตรฐาน นั่นคือเป้าหมายที่ตั้งไว้”
เด็กสาวที่ก้าวสู่จุดสูงสุดจากประเทศที่ความรู้ในวงการแบดมินตันเป็นรองแบบสุดกู่ จึงเป็นการประกาศศักยภาพของเธอ รวมถึงการพิสูจน์อะไรบางอย่างได้ว่า สภาพแวดล้อมแค่สิ่งส่งเสริม แต่แรงผลักดันที่สำคัญที่สุดนั้นเกิดจากตัวเอง
แคโรลินา มาริน ผลักดันขีดความสามารถของเธอ และความสามารถนั้นก็พาเธอไปลุยทั่วโลก จนได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ สร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีใครสามารถบันทึกได้ … ไม่ว่าจากนี้ มาริน จะคว้าแชมป์โลกได้อีกหรือไม่ แต่สำหรับวงการแบดมินตันของสเปน, ยุโรป และระดับโลก จะไม่มีทางลืมชื่อเธอแน่ นักแบดมินตันหญิงที่เก่งที่สุด และเสียงดังที่สุดอย่างเธอ จะเป็นตำนานบทใหม่ ที่ไม่ว่าใครก็อยากจะก้าวข้ามความสำเร็จครั้งนี้ …