วันจันทร์ ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 19.34 น.
เส้นทางของ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย และ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ นักแบดมินตันคู่ผสมมือ 2 ของโลก ที่สร้างประวัติศาสตร์คว้า แชมป์เวิลด์ทัวร์ 3 รายการติดต่อกันนั้น มาจากความมุ่งมั่น ความทุ่มเท ความอดทน มีวินัยและความสามัคคี รวมถึงทีมงานผู้อยู่เบื้องหลัง ทำให้นักแบดมินตันคู่นี้ เป็นความหวังของไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติรวมถึงโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กำลังจะมาถึง มากกว่า 10 ปี ที่ “บาส-ปอป้อ” และทีมงานโค้ชรวมถึงทีมวิทยาศาสตร์การกีฬาของ “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” ทุกคนทำงานร่วมกันไม่เคยหยุด เพื่อวางแผนการฝึกซ้อมให้กับนักกีฬาทั้งคู่ ทุ่มเททั้ง แรงคิด แรงกาย แรงใจ เพราะทุกคนต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้ดีที่สุดในทุกการแข่งขัน
กว่าจะมาถึงจุดนี้ บาส-ปอป้อ และทีมงาน ต้องหาวิธีการของตัวเองให้เจอก่อน“คุณเป็นเหมือนใครไม่ได้เลย คุณเป็นได้แค่ตัวคุณ ต่อให้ซ้อมแบบแชมป์โลก คุณก็ไม่สามารถเป็นแชมป์โลกได้ คุณจะเป็นแชมป์โลกด้วยวิธีการซ้อมที่เหมาะกับตัวคุณ” นี่คือคำบอกเล่าจาก ศ.ดร. เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬา “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” และถือเป็นแนวคิดสำคัญ ที่ทั้งนักกีฬาและทีมงาน ทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาธรรมชาติของนักกีฬาให้เจอ เพื่อให้ได้รูปแบบการฝึกซ้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้เล่นแต่ละคนให้มากที่สุด จุดสำคัญคือ นักกีฬาจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในทุกๆ เกมการแข่งขัน เพราะไม่ว่าเราจะเก่งขนาดไหน ถ้าเราหยุดอยู่กับที่ไม่พัฒนาตัวเอง ก็อาจจะโดนคนที่ไม่หยุดพัฒนาแซงได้เหมือนกัน
“ทุกคนอยากชนะหมด ถ้าอยากชนะต้องทำอย่างไรบ้าง ที่จริงการแพ้หรือชนะก็เป็นแค่ผล แต่สุดท้ายเราต้องทำอะไรกับผลนั้น สำคัญคือนักกีฬาต้องรู้ว่าเขาแพ้เพราะอะไร” โค้ชโอม เทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอน “เอสซีจีแบดมินตัน อะคาเดมี่” พูดถึงสิ่งที่ย้ำเตือนกับนักกีฬาเสมอ“เราเตรียมแผนการเล่นที่จะเจอกับคู่แข่ง ปรึกษากับโค้ชก่อนลงแข่ง พอเราเล่นได้เราก็มั่นใจว่า จะชนะ ทุกอย่างที่เป็นอย่างทุกวันนี้ มันไม่ได้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว เรามีคู่ขา มีทีมงาน อาจารย์เจริญ โค้ชโอม ทุกอย่างที่สอน มันทำได้จริงๆ ขอบคุณเอสซีจี ที่สนับสนุน เรามีวันนี้ได้เพราะเอสซีจี”บาส-ปอป้อตอกย้ำที่มาของความสำเร็จ
ขณะที่อีกแรงหนุนที่สำคัญก็คือ “ครอบครัว”
“ตั้งแต่เด็กๆ เค้าจะตีโดนบ้าง ไม่โดนบ้างก็จริง แต่จะวิ่งเข้าถึงลูกทุกลูกก็คือ ล้มลุกคลุกคลาน ป้อบอกเค้าทนไม่ได้ที่จะเห็นลูกมันหล่นต่อหน้าโดยที่ไม่ทำอะไรเลย เขาพูดตั้งแต่เด็กๆ นะ จนโตมาเค้าก็ทำเหมือนเดิม” สุนีย์ แต้รัตนชัย คุณแม่นักธุรกิจเจ้าของร้านขายทองที่อุดรธานี พูดถึงความทุ่มเทของลูกสาว“
“ตอนเด็กๆ เราต้องการหาอะไรให้เค้าเล่น เพื่อให้พลังเหลือน้อย และที่มาเล่นแบด ก็ไม่ได้คาดหวังจนถึงติดทีมชาติ จนมาถึงวันที่เป็นจุดเปลี่ยนคือ วันที่เอสซีจี เรียกไป มันเป็นโอกาสที่เราจะได้ก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้คิดเหมือนกันว่าจะก้าวมาได้ถึงขนาดนี้” อริญา พัววรานุเคราะห์ นักธุรกิจชาวชลบุรี แม่ของบาสเล่าถึงความเป็นมาของบาส กีฬาแบดมินตันในไทยนั้นเหมือนกีฬากอล์ฟและเทนนิส เป็นที่นิยมในหมู่เยาวชนในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนชนชั้นกลางเพราะเป็นกีฬาที่ผู้ปกครองต้องมีเงินและมีเวลาดูแลลูกๆได้เช่นเดียวกับว่ายน้ำ
“โตเกียวเกมส์” ครั้งนี้ ทั้งบาสและปอป้อยังคงมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องทำให้ดีที่สุดในทุกการแข่งขัน คว้าชัยชนะให้มากที่สุด เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนเห็นว่า ถ้ามีเป้าหมายชัดเจนตรงกันแล้ว การทุ่มเทไม่หยุด ไม่ย่อท้อ ก็ไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้”