เพราะ Smash Shot คือการตีลูกอย่างรุนแรงจนเกิดความเร็วขั้นสูงสุด โดยสถิติที่ถูกบันทึกไว้ ลูกตบแบบ Smash Shot สามารถสร้างความเร็วบนอากาศ มากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Main Stand จึงใช้หลักฟิสิกส์หาคำตอบว่าเหตุใดลูกตบแบบ Smash Shot ถึงมีความเร็วสูงเทียบเท่ารถสปอร์ตคันหรู ทั้งที่ต้นกำเนิดแรงของลูกมาจากกล้ามเนื้อมนุษย์ และเส้นเอ็นบนแร็กเก็ต
Smash Shot หรือ ลูกตบ คือ การที่ผู้เล่นตีลูกแบดมินตันจากระดับสูงให้พุ่งลงต่ำอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยลูกตบถือเป็นไม้ตายสำคัญในการทำคะแนน เนื่องจากลูกตบมีจุดเด่นที่ความหนักหน่วงและความแม่นยำ จึงเป็นอาวุธหลักในเกมรุกของกีฬาแบดมินตัน
ลูกตบมักถูกเปรียบเทียบกับลูกเสิร์ฟของกีฬาเทนนิส เนื่องจากเป็นการตีลูกที่เน้นความรุนแรงและความเร็วมหาศาล เคยมีการทดลองของนักแบดมินตันชาวจีนที่ยืนยันว่า ลูกตบสามารถสร้างรอยแตกร้าวแก่ผลแตงโม แม้ผู้ตีแบดมินตันจะอยู่ห่างจากผลแตงโมเป็นระยะทาง 3 เมตร
ยิ่งกว่านั้น เมื่อเทียบความเร็วสูงสุดของลูกบอลชนิดต่าง ๆ ที่เคยถูกบันทึกในการแข่งขันกีฬา ลูกตบของฟู่ ไฮ่เฟิง นักแบดมินตันทีมชาติจีน สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 208 ไมล์ต่อชั่วโมง เร็วกว่าสถิติสูงสุดของการเสิร์ฟลูกเทนนิสซึ่งอยู่ที่ 163 ไมล์ต่อชั่วโมง และการขว้างเบสบอลซึ่งอยู่ที่ 108 ไมล์ต่อชั่วโมง
ความแรงของลูกจึงถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกตบ เป็นอาวุธที่อันตรายที่สุดในกีฬาแบดมินตัน ซึ่งตามหลักฟิสิกส์แล้ว ความแรงของ Smash Shot สามารถอธิบายได้ตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน หลักกลศาสตร์พื้นฐานที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับแรงที่กระทำต่อวัตถุ
ซงเจี๋ย ช่าย นักแบดมินตันผู้มีประสบการณ์มากกว่า 11 ปี และนักศึกษาวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย เลือกใช้กฎการเคลื่อนที่ข้อที่สองของนิวตัน หรือ F=ma มาอธิบายความรุนแรงของลูกตบในกีฬาแบดมินตัน
โดยในกรณีนี้ “F” หมายถึงเวกเตอร์ของแรงที่กระทำต่อวัตถุ เท่ากับแรงที่กระทำต่อลูกแบดมินตัน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของ “m” หรือมวลของวัตถุ ซึ่งหมายถึงมวลของแบดมินตัน คูณด้วย a หรือความเร่งของวัตถุ
การตีลูกตบใส่แตงโมที่กล่าวถึงข้างต้น คือตัวอย่างที่สามารถอธิบายความแรงของลูกตบผ่านกฎ F=ma โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ลูกแตงโม หมายถึงค่าแรงลัพธ์ที่กระทำต่อลูกแบดมินตัน (F) ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากมวลของลูกแบดมินตัน (m) คูณกับความเร่งของวัตถุ (a) ซึ่งหมายถึง แรงที่ผู้เล่นตีใส่ลูกแบดมินตัน เพราะกฎการเคลื่อนที่ข้อที่สองของนิวตันกล่าวว่า หากวัตถุใดมีความเร่ง แสดงว่ามีแรงกระทำต่อวัตถุนั้นอยู่
เมื่อพิจารณาตัวแปรที่ทำให้เกิดแรงของลูกแบดมินตัน จะพบว่า m หรือ มวลของลูกแบดมินตัน เป็นตัวแปรที่ค่อนข้างคงที่ เนื่องจากมวลของแต่ละลูกแบดมินตันที่ไม่ต่างกันนัก a หรือ แรงที่ผู้เล่นตีใส่ลูกแบดมินตัน จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่า ลูกตบของผู้เล่นคนใดรุนแรงมากกว่ากัน
มีตัวแปรหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อแรงที่ผู้เล่นตีใส่ลูกแบดมินตัน ได้แก่ การเคลื่อนไหวของร่างกาย, ไม้แบดมินตันหรือแร็กเกต และลูกแบดมินตัน แต่เนื่องจากผู้แข่งขันในแต่ละแมตช์ต้องใช้ลูกแบดมินตันเดียวกัน การเคลื่อนไหวของร่างกาย และไม้แบดมินตัน จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดความรุนแรงของลูกตบ
Photo : how-to-play-badminton.com
สำหรับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ปัจจัยข้อนี้ส่งผลโดยตรงกับการตี Smash Shot เพราะนักกีฬาที่สามารถตีลูกตบได้ดี ย่อมสะสมพลังงานในร่างกายเป็นจำนวนมหาศาล ก่อนปล่อยพลังงานดังกล่าวออกไปถูกที่ถูกเวลา ซึ่งจะส่งผลให้นักกีฬาผู้นั้นสามารถตีลูกแบดมินตันด้วยความเร็วสูงสุด ซึ่งเป็นไม้ตายหลักของลูกตบ
การตีลูกตบด้วยความเร็วสูงสุดไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องผ่านการฝึกฝนนับครั้งไม่ถ้วน เพราะการเคลื่อนไหวของร่างกายแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็น เอว, สะโพก, หัวไหล่, ต้นแขน, ปลายแขน และข้อมือ จำเป็นต้องสัมพันธ์กันทั้งหมดเพื่อให้พลังงานที่สะสมมาตั้งแต่เท้าของนักกีฬา สามารถส่งไปยังไม้แบดมินตันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
จังหวะที่สำคัญที่สุดในการตี Smash Shot คือจังหวะตีลูก ซึ่งผู้ตีต้องตวัดแขนไปด้านหลัง ก่อนฟาดลงไปที่ลูกอย่างเต็มแรง เนื่องจากเป็นการส่งแรงที่เก็บสะสมไว้บริเวณสะโพก สู่ข้อมือภายในเสี้ยววินาที การบิดเอว, ปลายแขน และข้อมือ จึงต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อตีลูกให้ได้ความเร็วสูงสุด
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวร่างกายที่ถูกต้องอาจไร้ความหมาย หากผู้ตีไม่สามารถควบคุมไม้แบดมินตันให้สัมผัสกับลูกในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือจุดที่เรียกว่า “Sweet Spot” ซึ่งเป็นจุดสำคัญบนแร็กเกตที่จะช่วยส่งให้ลูกตีมีความแม่นยำ และความเร็วมากขึ้น
สำหรับ Sweet Spot เกิดขึ้นจากการขึงเอ็นของไม้แบดมินตัน จนเกิดจุดที่มีความตึงของเอ็นสูงสุด ซึ่งจะช่วยให้ลูกแบดมินตันที่มาสัมผัสบริเวณดังกล่าว สามารถรับแรงส่งจากหน้าไม้ได้มากกว่าบริเวณอื่น โดย Sweet Spot ของกีฬาแบดมินตัน จะอยู่บริเวณช่วงบนของแร็กเกต
Photo : badmintonfanatiker.com
การทำงานของ Sweet Spot สามารถอธิบายผ่านหลักฟิสิกส์ด้วยกฎของฮุก หรือกฎที่กล่าวว่าแรงที่ต้องใช้ในการยืดหรือหดสปริง จะแปรผันตรงกับระยะทาง ตามสูตร F=kx โดยในกรณีนี้ k = น้ำหนักของเส้นเอ็นที่ถูกขึงบนแร็กเก็ต ส่วน x = ความยาวของเส็นเอ็นที่เป็นพื้นที่ Sweet Spot
หากพิจารณาตามกฎของฮุก หลายคนคงคาดเดาว่า ยิ่งน้ำหนักของเส็นเอ็นมากเท่าไร แรงที่เกิดย่อมมากเท่านั้น แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะหากผู้ตีขึงเส้นเอ็นให้แข็งมากเกินไป จะทำให้พื้นที่ของ Sweet Spot ลดลง หรือในแง่หนึ่งคือ ยิ่งค่า k มากเท่าไร ค่า x จะลดลงมากเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การขึงเส้นเอ็นบนแร็กเก็ตให้แข็งมากเกินไป จะส่งผลให้ผู้ตีออกแรงบริเวณข้อมือและหัวไหล่มากกว่าปกติ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อตัวผู้ตีเอง แม้ลูกตบที่ออกไปจะมีความแรงและความแม่นยำเพิ่มขึ้น แต่ผู้ตีจะเสียแรงจำนวนหนึ่งโดยเปล่าประโยชน์ ถือการเสียแรงเปล่าโดยใช้เหตุ
การขึงเอ็นที่เหมาะสมกับการตีลูกตบในบริเวณ Sweet Spot จึงอยู่ที่ 23 ปอนด์ สำหรับนักแบดมินตันชาย และ 21 ปอนด์ สำหรับนักแบดมินตันหญิง ซึ่งถือเป็นความตึงเอ็นระดับปานกลาง ช่วยให้ผู้ตีสามารถบาลานซ์แรงตีกับแรงส่งลูกจากไม้ได้อย่างเหมาะสม
การใช้กฎทางฟิสิกส์ ทั้ง กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน และ กฎของฮุก เข้ามาช่วยอธิบายการตีลูกแบบ Smash Shot ย่อมทำให้ผู้ชื่นชอบแบดมินตัน สามารถทำความเข้าใจกับกีฬาชนิดนี้ได้มากขึ้น
แต่ท้ายที่สุดแล้ว วิธีการที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถตีลูก Smash Shot อย่างสมบูรณ์แบบ มีเพียงทางเดียวเท่านั้น คือ การฝึกซ้อมอย่างหนัก จนผู้เล่นสามารถสร้างลูกตบมหัศจรรย์ด้วยสัญชาติญาณ แบบที่กฎทางวิทยาศาตร์ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ลูกตบอันน่ามหัศจรรย์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
แหล่งอ้างอิง
https://illumin.usc.edu/fast-furious-the-science-behind-badminton-smashes/
http://www.badminton-information.com/badminton_smash.html
https://www.britannica.com/science/Newtons-laws-of-motion
https://www.britannica.com/science/Hookes-law
https://www.facebook.com/protechthailand/posts/1287360214763445
>> ทำได้ไง!! ชมคลิป ‘บาส’เอ็นแร็กเก็ตขาด ต้องวิ่งเปลี่ยนไม้ ก่อนกลับมาตบทำแต้มสุดสะใจ
>> Sports Profile : ประวัติ ‘บาส เดชาพล’ และ ‘ปอป้อ ทรัพย์สิรี’ คู่มือตบลูกขนไก่ระดับโลกของไทย
ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น
รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่
เก็งไม่มีพลาด! ฟันธงคู่ไหนเด็ด! เจาะลึกก่อนเกมพรีเมียร์ลีก สมัครทาง SMS พิมพ์ R1 ส่งมาที่ 4238066 หรือคลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างนี้ ใช้ฟรี 7 วัน!!!!
เผยแพร่: 2 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.