Badminton Sponsored

'อ.เจี๊ยบ' กับมุมมองหลังเกมชิงชนะเลิศแบดมินตัน เจแปน โอเพ่น 2022 ทั้ง5ประเภท

Badminton Sponsored
Badminton Sponsored

อ.เจี๊ยบ ผู้บรรยายแบดมินตันทรูวิชั่นส์ พารีวิว 5 คู่ชิงชนะเลิศ จากศึกเจแปน โอเพ่น 2022 ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 4 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการแข่งขัน แบดมินตัน  “ไดฮัทสึ โยเน็กซ์ เจแปน โอเพ่น 2022” เวิลด์ทัวร์ 750 ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 4 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา โดยการแข่งขันในครั้งนี้เป็นสัปดาห์ต่อเนื่องจากศึกชิงแชมป์โลกที่กรุงโตเกียวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทว่าการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นวันที่แฟนขนไก่ชาวไทยได้เฮกันทั้งประเทศ เมื่อ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ & ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สามารถเอาชนะเจ้าถิ่น ก่อนคว้าแชมป์ในประเภทคู่ผสมได้อย่างยิ่งใหญ่ นับเป็นแชมป์ที่ 3 ในปีนี้ของ บาส & ปอป้อ

หลังจบการแข่งขันในนัดชิงชนะเลิศ ทีมข่าว TNNSPORTS ติดต่อไปพูดคุยกับ อ.เจี๊ยบ ธนัช อัศวนภากาศ รองเลขาธิการสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้บรรยายเกมขนไก่ของทรูวิชั่นส์ เพื่อให้รีวิว 5 แมตช์ชิงชนะเลิศในรายการนี้ ซึ่งกูรูของเราจะมีมุมมองอย่างไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกันได้เลย

ก่อนอื่น อ.เจี๊ยบ ฝากมาบอกว่า “การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศหนนี้เป็นการแข่งขันที่สนุกมากๆ สนุกทั้ง 5 คู่ เป็นการแข่งขันที่ใช้เวลายาวนานถึง 7 ชั่วโมง นานที่สุดเท่าที่ผมเคยบรรยายเกมรอบชิงมาเลย ซึ่งตัวผมเองก็มีความสุขมากๆที่ได้บรรยายเกมคุณภาพทั้ง 5 เกม รวมทั้งการคว้าแชมป์ของ บาส-ปอป้อ ยิ่งทำให้มีความสุขมากขึ้นไปอีกครับ”

คู่ผสม : จอง นาอึน & คิม ฮายจอง (เกาหลีใต้) ชนะ เบ็ค ฮานา & อี ยูริม (เกาหลีใต้) 2-0 เกม 23-21 , 28-26

ทั้งสองคู่เป็นคู่ใหม่ของเกาหลีใต้ มีสไตล์ที่เน้นความเหนียวแน่นและความแน่นอน ซึ่งคู่ของ จอง นาอึน – คิม ฮายจอง ที่สามารถคว้าแชมป์ไปได้นั้น มีทีเด็ดที่ คิม อายจอง ประกบหน้าเน็ตดีมาก โฉบจากหน้าเน็ตเป็นแต้มได้เยอะ ส่วน เบ็ค ฮานา – อี ยูริม เอง เหนียวแน่นมากก็จริง แต่ปัญหาของคู่นี้คือการเล่นที่เน้นเกมรับมากไป แทบจะไม่ได้เป็นฝ่ายบุก ซึ่งต้องรอให้คู่ต่อสู้ผิดพลาดเป็นหลัก จึงทำให้ต้องใช้พละกำลังค่อนข้างเยอะ สุดท้ายเป็น นาอึน – ฮายจอง ที่เฉือนเอาชนะไปได้ แม้จะ 2-0 เกม แต่แต้มดิวส์ทั้งหมด ใช้เวลาทั้งสิ้น 94 นาที เป็นแชมป์ใหญ่แชมป์แรกของคู่นี้ แต่เอาจริงๆแล้ว ฮานา – ยูริม ก็พอมีโอกาสในนัดนี้ ยิ่งเกมแรก ได้เกมพอยต์แต่ปิดไม่ได้ ด้วยสไตล์ที่รับมากไป โดยเฉพาะ ยูริม ซึ่งเป็นหัวใจเกมรับ โดนตีใส่เยอะมาก จนกลางเกมสองเริ่มมีอาการอ่อนแรง เคลื่อนที่ช้าลงไปอย่างเห็นได้ชัด มีปัญหาที่ขา ต้องเรียกแพทย์ลงมาช่วยฉีดสเปรย์ที่ขา แม้จะพยายามรวบรวมทุกสิ่งที่มีกลับมาสู้ แต่ก็ยังไม่เด็ดขาดพอครับ แมตช์นี้สามารถเอาคำว่า “นานเป็นนาน ทนเป็นทน” มาใช้ได้เลยครับ โดยเฉพาะเกมสองเกมเดียว เล่นกัน 54 นาที นอกจากนี้ยังมีการแรลลี่หนักๆถึง 136 ช็อต อีกด้วยครับในนัดนี้

คู่ผสม : เดชาพล พัววรานุเคราะห์ & ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย (ไทย) ชนะ ยูตะ วาตะนาเบะ & อริสะ ฮิกาชิโนะ (ญี่ปุ่น) 2-1 เกม 16-21 , 23-21 , 21-18

เปิดเกมแรก ไทยมีปัญหาที่เกมหน้าเน็ตของ ปอป้อ ประกอบกับคู่ญี่ปุ่นเร็วมาก ทำเเต้มหนีเราค่อนข้างห่าง แต่มันมีจุดเปลี่ยนในช่วงท้ายเกมที่เราสามารถทำแต้มได้ 5 แต้ม ติดต่อกัน แม้จะไล่ไม่ทัน แต่ผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรามั่นใจขึ้น และพอจะมีช่องทางในการกลับเข้าสู่เกมในเกมที่สองได้ และเมื่อถึงเกมที่สอง พอเข้าสู่กลางเกม ปอป้อ เข้าหน้าเร็วขึ้น บาสเอง ก็บินไปทั่วสนาม ประกอบกับเป็นจังหวะที่เรารุมตีใส่ ฮิกาชิโนะ จนเธอมีอาการหลุด เสียความมั่นใจไปในระดับหนึ่ง แม้ญี่ปุ่นจะกลับมาช่วงท้าย มีโอกาสปิดแมตช์ แต่มีการเร่งจนเกินไป รวมถึงเราที่นิ่งพอสามารถเซฟไว้ได้ ก่อนจะปิดเกมกลับมาได้บ้าง พอเข้าสู่เกมที่สาม เหมือนกับคู่ญี่ปุ่น ยังทิ้งความเสียดาย กับสองแมตช์พอยต์ที่ปิดไม่ได้ ออกจากอารมณ์ไม่ได้ พากันหลุดดื้อๆ ทำให้เปิดเกมเราออกตัวนำ 8-1 นอกจากนั้น ปอป้อ ยกระดับเกมขึ้นมาเหนือกว่า ฮิกาชิโนะ ตัวบาสก็เล่นง่ายขึ้น ได้มีจังหวะทำแต้มที่ชัดเจน ส่วน วาตะนาเบะ เอง ก็มีอาการอ่อนแรงลงไป การเข้าหาลูกของเขาดูช้าลงไป หลังไปทุ่มเต็มที่ในสองเกมแรก ซึ่งเป็นความโชคดีของเราด้วยที่จังหวะเขาไล่มาช่วงกลางเกม เขาตีเสมอเราไม่ได้ ก่อนที่เราจะนำตลอดจนจบการแข่งขันและคว้าแชมป์ไปได้ เป็นการคืนฟอร์มที่ยอดเยี่ยมในการปราบแชมป์โอลิมปิก (หวัง ยี่ลู่ & หวง ตงปิง) และเหรียญทองแดงโอลิมปิก (ยูตะ วาตะนาเบะ & อริสะ ฮิกาชิโนะ) นับว่าเหลือเพียงแค่ เจิ้ง ซีเว่ย & หวง ย่าเฉียง ที่เป็นการบ้านหลักของเราในการต้องเอาชนะให้ได้ในรายการต่อๆไปครับ

ชายคู่ : เหลียง เว่ยเกง & หวัง ชาง (จีน) ชนะ คิม แอสทรูป & แอนเดอร์ส รามุสเซ่น (เดนมาร์ก) 2-1 เกม 21-18 , 13-21 , 21-17

เป็นการพบกันของคู่สดกับคู่เก๋า เกมแรกเป็น หวัง ชาง สุดหล่อที่ประกบหน้าเน็ตได้ดีมากๆ ทำเกมได้ตลอดจากหน้าเน็ต ส่วนเดนมาร์ก วันนี้ คิม แอสทรูป มีปัญหาจากการตีลูกที่ค่อนข้างโรยและช้ามาก แต่พอเข้าสู่เกมที่สอง หลังจากที่ หวัง ชาง โดนจับเสิร์ฟฟาวล์ ก็ดูเหมือนจะมีอาการวิตก ไม่มั่นใจในเกมของตัวเอง เปิดโอกาสให้เดนมาร์ก รุมใส่ทันที ดึงเขาออกไปหลัง ทำให้หมดพิษสงค์ไปเลย ต้องมาว่ากันที่เกมตัดสิน หวัง ชาง กลับมาคุมเกมได้ดีอีกครั้ง ทำให้ เหลียง เว่ยเกง ได้ฟาดเน้นๆหลายที ประกอบกับ คิม แอสทรูป ก็กลับมาหลุดฟอร์มเหมือนเซตแรกอีกครั้ง ทั้งช้า วางลูกโรยมาก วางลูกเบาไม่มีน้ำหนักกระแทก สุดท้ายคู่จีนคว้าแชมป์ใหญ่แชมป์แรกของตัวเองได้สำเร็จ

ชายเดี่ยว : เคนตะ นิชิโมโตะ (ญี่ปุ่น) ชนะ โจว เทียนเฉิน (ไชนีสไทเป) 2-1 เกม 21-19 , 21-23 , 21-17

ก็ต้องบอกว่าเป็นการเข้าชิงรายการเข้าชิงรายการระดับ 750 ครั้งแรกของ นิชิโมโตะ แล้วได้เล่นในบ้านด้วย ดูมีความมุ่งมั่นตั้งใจมากตั้งแต่คะแนนแรก แล้วก็เป็นอีกครั้งที่ โจว เทียนเฉิน เปิดเกมโดยให้คู่แข่งทำคะแนนออกนำเยอะๆ คืออารมณ์เหมือนเล่นๆไปก่อน ติดประมาท นอกจากนี้เกมหยอด เกมหน้าเน็ตวันนี้ นิชิโมโตะ ทำได้ดีจริงๆ ข่มใส่ โจว เทียนเฉิน ชัดเจนมากๆ เกมแรกมีโอกาสออกนำ 20-13 แม้จะปล่อยให้ โจว เทียนเฉิน ไล่เข้ามา 19-20 แต่ก็สามารถรวบรวมสมาธิปิดไปได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ โจว เทียนเฉิน ประมาทจริงๆ ออกสตาร์ทไม่ดี พอจะไล่ก็ไล่ไม่ทัน เพราะตัวเขาเองด้วยอายุ ด้วยสภาพร่างกาย ไม่ใช่หนุ่มแข็งแกร่งเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เกมสองก็ต้องยอมรับว่าหนุ่มไทเป ใช้ประสบการณ์กลับเข้าสู่เกม ปัดลูกหยอดของ นิชิโมโตะได้ดีขึ้น รวมทั้งการได้สองแมตช์พอยต์แล้วปิดไม่ได้ของ นิชิโมโตะ ยิ่งลูกเสิร์ฟผิดคอร์ท ทำให้ โจว เทียนเฉิน กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเกมสามมันก็เป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า พละกำลังของ โจว เทียนเฉิน หายไปมาก เร่งไม่ขึ้น ลูกตบหนักๆ ที่เคยทำได้ สปีดหายไป ประกอบกับ นิชิโมโตะ แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรง ความมุ่งมั่นที่อยากจะคว้าแชมป์ในบ้านและออกจากร่มเงาของ เคนโตะ โมโมตะ ให้ได้ จึงทำสำเร็จคว้าแชมป์ไปได้ครับ และนี่เป็นบทเรียนอีกครั้งจากหลายต่อหลายครั้งที่ของ โจว เทียนเฉิน แสดงให้เห็นว่า การปล่อยให้คู่แข่งทำแต้มนำไปก่อน การยังไม่เอาจริงเอาจริงในช่วงเริ่มเกม การต้องการพิสูจน์ หรือ ชาเลนจ์ ตัวเองอะไรก็ตาม มันไม่ง่ายเหมือนตอนหนุ่มๆที่เขาทำได้อีกแล้ว

หญิงเดี่ยว : อกาเนะ ยามากูชิ (ญี่ปุ่น) ชนะ อัน เซยอง (เกาหลีใต้) 2-0 เกม 21-9 , 21-15

เป็นเกมที่จบเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด แต่ต้องบอกเลยว่าแฝงไปด้วยคุณภาพ จังหวะฝีมือ และเทคนิคต่างๆ ซึ่งหลังจบเกม อกาเนะ ยามากูชิ ได้สร้างโจทย์ให้หญิงเดี่ยวทั่วโลกเห็นเลยว่า เธอพัฒนาขึ้นมาอย่างยอดเยี่ยม และพร้อมจะเป็นเบอร์ 1 หญิงเดี่ยวในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเกมแรก เป็นเกมที่ไม่เคยเห็น อกาเนะ เล่นได้เร็วแบบนี้มาก่อน อาศัยความเร็วบุกกระหน่ำ กระโดดหลอกตบ หลอกเซฟ หลอกตบ หลอกฟัน เข้าหน้าเน็ตเร็ว และเล่นลูกดึงหลอกสองจังหวะบ่อย ได้แต้มด้วย จึงเอาชนะไปขาดลอย พอมาเกมสอง อัน เซยอง ปรับเกมเดินเร็วขึ้น เล่นเร็วขึ้น เธอคิดว่า อกาเนะ ไม่น่าจะเล่นเร็วและแข็งแรงแบบนี้ตลอดสองเกมได้ ซึ่งเกือบทำสำเร็จ บีบให้ อกาเนะ ผิดพลาดได้ แต่ปัญหาของเธอก็คือ เน้นเกมรับเพื่อบีบให้คู่แข่งผิดพลาดเป็นหลัก แต่บังเอิญว่าวันนี้ อกาเนะ ผิดพลาดน้อย แม้จะไม่ได้เฉียบเหมือนเกมแรก แต่สิ่งที่มีก็คือประสบการณ์ เธอจะเร่ง แล้วผ่อน เร่ง แล้วผ่อน แล้วก็เร่งใหม่ ทำให้สามารถคว้าแชมป์ติดต่อกันสองสัปดาห์ แล้วเป็นแชมป์ใหญ่ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถคว้าแชมป์โลกสองสมัยติดต่อกัน และแชมป์เจแปน โอเพ่น สองสมัยติดต่อกัน ยิ่งไปกว่านั้นเธอคว้าแชมป์ เจแปน โอเพ่น ได้สามสมัยแล้ว ร่วมกับ หวัง ยี่ฮาน และ ซูซี่ ซูซานติ ซึ่งน้อยคนที่จะทำได้อีกด้วย

เรียบเรียงโดย : นิก ธีร์ธวัช

Badminton Sponsored
แบดมินตัน

อีสปอร์ต (อังกฤษ: Esports) หรือ กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic sports) คือกีฬาประเภทบุคคลหรือทีมชนิดหนึ่ง กรมกีฬาได้จัดEsportเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยมีการแข่งตามประเภทของวิดิโอเกมเช่น เกมวางแผนการรบ, เกมต่อสู้, เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง, โมบา , เกมอินดี้ การแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่าง ๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ในปี 2017 ผู้ชมอีสปอร์ตมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 385 ล้านคนทั่วโลก

This website uses cookies.