10. ยอดมวยไทย “ลำน้ำมูลเล็ก ทีเด็ด 99”
ฉายา “สายน้ำมรณะ” ลำน้ำมูลเล็ก อ.อัจฉริยะ หรือ นายณัฐพล แสนกล้า หนุ่มกระทงวัย 23 จากสะตึก จ.บุรีรัมย์ คว้ารางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยมแห่งปี เนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2564 ผ่านการโหวตลงคะแนนจากสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย
แม้ผลงานการชกตลอดปีในช่วง “โควิด” จะน้อย แต่จากฝีมือทำให้มีคะแนนเฉือน เพชรศิลา ว.อุรชา คว้ารางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยม ต้องมาจับตาดูว่าในปี 2565 “ลำน้ำมูลเล็ก อ.อัจฉริยะ” จะมีผลงานเปรี้ยงปร้างเพียงใด
9. “กัน” กันตภณ หวังเจริญ
“กัน” กันตภณ หวังเจริญ นักแบดมินตันชายมือ 1 ของไทย เจ้าของรางวัลนักกีฬาสมัครเล่นชายดีเด่นประจำปี 2564 ในวัย 23 ถือว่าเป็นความหวังในวงการลูกขนไก่ไทย
หลังจากชายเดี่ยวหมดยุค “ซูเปอร์แมน” บุญศักดิ์ พลสนะ เป็นเวลาของ “กัน-กันตภณ” ที่สร้างผลงานโดดเด่นตั้งแต่ระดับเยาวชน ผลงานสุดปังคือการคว้าเหรียญทองแดงแบดมินตันชิงแชมป์โลก และทีมผสม “สุธีรมาน คัพ” เมื่อปี 2019
แม้ไม่ถึงแชมป์รายการสำคัญในตลอดปีที่ผ่านมา แต่ผลงานยังถือว่าน่าชื่นชม และหวังว่าจะทำๆได้ดีกว่าในปีหน้า
8. “พงศกร แปยอ” แชมป์เหรียญทอง เจ้าของสถิติโลก
ยอดนักกีฬาคนพิการ “พงศกร แปยอ” หนุ่มวัยเบญจเพศ เป็นนักกีฬาวีลแชร์ทีมชาติไทย ในประเภท T53 เข้าแข่งขันในกีฬาพาราลิมปิกฤดูร้อน 2016 และล่าสุดใน “โตเกียว 2020”
ผลงานสำคัญในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่ริโอ พงศกรคว้า 2 เหรียญทอง จากการแข่งขันประเภท 400 เมตร และ 800 เมตร และ 2 เหรียญเงิน ในการประเภท 100 เมตร และ ผลัด 4×400
ล่าสุดในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว “พงศกร แปยอ” สร้างชื่อกระหึ่มโลกด้วยการคว้า 3 เหรียญทอง จากการแข่งขันประเภท 100, 400 และ 800 เมตร
พร้อมสร้างสถิติโลกใหม่ในการแข่งขันประเภท 400 เมตร ด้วยเวลา 46.61 วินาที
เป็น ผลงาน 3 เหรียญทองของ “พงศกร” จากจำนวนทั้งหมด 5 เหรียญทองที่ทัพนักกีฬาคนพิการไทยทำสำเร็จ
7. “เอฟวัน” เทพไชยา อุ่นหนู
“เอฟวัน” เทพไชยา อุ่นหนู นักสอยคิวอาชีพมือ 1 ของไทย ผู้สร้างผลงานตื่นตาตื่นใจไม่เพียงแต่กองเชียร์ชาวไทย แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมของแฟนกีฬาสอยคิวทั่วโลก
ลีลาการแทงที่รวดเร็วและแม่นยำทำให้หลายคนติดตาม ผลงานสำคัญคือการคว้าแชมป์โลก “ซู๊ตเอ้าท์” เมื่อปี 2519 พร้อมฉายา “สปีดคิงส์”
ผลงานสุดปังในรอบปีที่ผ่านมาของ “เอฟวัน” เทพไชยา อุ่นหนู คือการทำแม็กซิมั่มเบรก 147 แต้ม ในการพบกับ “ฟาน เฉิงยี่” ในรายการเยอรมัน มาสเตอร์ ก่อนพ่ายไป 3-5 เฟรม
ก่อนมาขย้ำตำนานสนกเกอร์โลก “สตีเฟ่น เฮนดรี้” กระจุย 6-1 เฟรม โดยเป็นการทำเซ็นจูรี่เบรกถึง 5 จาก 6 เฟรม ถือเป็นผลงานที่จับต้องได้และน่าประทับใจจนเป็นที่ติดตามของแฟนทั่วโลก
6 สาวน้อยมหัศจรรย์ “โปรจีน” อาฒยา ฐิติกุล
ในวัย 18 ปี “โปรจีน” อาฒยา ฐิติกุล โปรสาวดาวรุ่งเจ้าของรางวัล “เรซ ทู คอสตา เดล โซล” สำหรับมือ 1 ของเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ สร้างผลงานกระฉ่อนโลกตลอดทั้งฤดูกาล
หลังเทิร์นโปรมาปีเศษ และแทบไม่ได้แข่งขันในช่วงโควิด ก่อนมาสร้างผลงานเด่นคว้าแชมป์อาชีพไป 2 รายการในทัวร์ รวมถึงผลงานในรายการระดับเมเจอร์ “เอวิยอง แชมเปียนชิป” โดยคว้าอันดับที่ 5 ถือว่าน่าประทับใจสำหรับนักกอล์ฟดาวรุ่งหน้าใหม่
รวมผลงาน 4 แชมป์ รายการ “เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์” ของ “โปรจีน-อาฒยา” ถือว่าไม่ธรรมดา
โดยเฉพาะ 2 แชมป์ในปีนี้คือ “ทิปสปอร์ต เช็ก เลดีส์ โอเพ่น” ที่สาธารณรัฐเชก และ “วีพี แบงค์ สวิส เลดีส์ โอเพ่น” ที่สวิสเซอร์แลนด์ ก็ทำให้โลกต้องหันมาจับตามอง
5 “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ความหวังทุกสนาม
“เมย์” รัชนก อินทนนท์ นักตีลูกขนไก่ขวัญใจหมายเลข 1 ของสยามประเทศ เป็นนักกีฬาที่คนเฝ้าติดตามและเอาใจเชียร์มากที่สุดคนหนึ่ง
ผลงานยังตราตรึงคือการคว้าแชมป์โลกหญิงเดี่ยว เมื่อปี 2013 พร้อมทำสถิติอายุน้อยที่สุดในโลก นับจากนั้นมา “เมย์-รัชนก” ยังเป็นความหวังสูงสุดในทุกการแข่งขัน
แม้สภาพร่างกายในปีที่ผ่านมามีปัญหาโดยเฉพาะไหล่ รวมถึงการสูญเสียมารดาอย่างกระทันหันทำให้ผลงาน “เมย์-รัชนก” ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนปีก่อน
แต่การเข้าถึงรอบ 8 คนรายการชิงแชมป์โลก และเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศในรายการ “อินโดนีเซีย โอเพ่น 2021” ทัวร์นาเมนต์ระดับเวิลด์ทัวร์ 1000 ในช่วงปลายปี ถือเป็นผลงานที่น่าประทับใจ
หวังว่าปีหน้าฟ้าใหม่ในสภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อม จะสร้างความสำเร็จให้คนไทยได้ชื่นใจอีกครั้ง
4 “โปรเหมียว” ปภังกร ธวัชธนกิจ
จากนักกอล์ฟสาวที่แทบไม่มีใครรู้จักและสนใจ มือโปรโนเนมอันดับ 162 ของโลก แข่งขันอาชีพปีแรก อีกทั้งไม่เป็นตัวเต็งในรายการระดับเมเจอร์แรกเมื่อต้นปี
แต่ “เหมียว” ปภังกร ธวัชธนกิจ สร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์แอลพีจีเอ ทัวร์ ในรายการ “เอเอ็นเอ อินสปิเรชั่น” สกอร์รวม 18 อันเดอร์พาร์ 270 คว้าถ้วยรางวัล พร้อมเงิน 465,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 15 ล้านบาท
นับจากนั้นมา หลายคนก็จับจ้อง และ “โปรเหมียว” แสดงให้เห็นว่าแชมปืที่ได้มาไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อยังสร้างผลงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงทำคะแนนจนมีสิทธิ์ในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก “โตเกียว 2020” ร่วมกับ “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล
จากอันดับ 162 ของโลกในปีที่แล้ว ก้าวมาเป็นมือ 13 ของโลกในปีนี้ แสดงให้เห็นผลงานและพัฒนาการของ “โปรเหมียว” ได้เป็นอย่างดี
3 “บาส-ปอป้อ”แบดผสมผู้สร้างตำนาน
สร้างประวัติศาสตร์ให้กับชาติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับแบดมินตันประเภทคู่ผสม “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ภายหลังคว้าแชมป์โลก รายการส่งท้ายปี
ทำสถิติคว้ามารวม 12 แชมป์ในการแข่งขันรายการแบดมินตันโลก
ที่สำคัญถือเป็นแชมป์โลกคู่แรกของไทย ทั้งเป็นแชมป์รายการที่ 5 ติดต่อกัน รวมถึงการก้าวขึ้นเป็นคู่มือ 1 ของโลก อย่างไร้ข้อสงสัย
สำหรับ 5 แชมป์ ต่อเนื่องไร้พ่ายมาหลายสิบนัดนับตั้งแต่ “ไฮโล โอเพ่น” ที่ประเทศเยอรมัน กวาดอีก 3 แชมป์บนเกาะบาหลี คือ อินโดนีเซีย มาสเตอร์ส, อินโดนีเซีย โอเพ่น และ เวิลด์ทัวร์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2021 ปิดท้าย เวิลด์แชมเปี้ยนชิฟ 2021 หรือรายการชิงแชมป์โลกที่ประเทศสเปน
เป็นความยิ่งใหญ่พร้อมแปลงสภาพเป็นเศรษฐีนักกีฬาไปเรียบร้อย
2 เรือตรีหญิง สุดาพร สีสอนดี
เป็นนักมวยหญิงทีมชาติไทยคนแรก ที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก หลังคว้าเหรียญทองแดง “โตเกียว 2020”
นอกเหนือจากเป็นการกู้หน้าให้สมาคมมวยกีฬาสมัครเล่น ยังเพิ่มเหรียญให้กับทัพกีฬาไทยและสร้างความสุขเสียงเชียร์ให้คนไทยตลอดการชก 4 นัดในรายการนี้
น่าเสียดายในรอบรองชนะเลิศไปพลาดท่าพ่ายคู่ปรับ “เคลลี่ ฮาร์ริงตัน” จากไอร์แลนด์ 2-3 แต่ถือเป็นผลงานดีที่สุดของมวยเสื้อกล้าม
และอาจเป็นวาสนาที่รับใช้ชาติมายาวนาน “สุดาพร สีสอนดี” ไม่เคยก้าวถึงเหรียญทองในรายการสำคัญ
นับจาก เหรียญทองแดง ชิงแชมป์โลก ที่เกาหลีใต้ ปี 2014 เหรียญเงินชิงแชมป์โลก 2018 ที่อินเดีย และเหรียญเงิน เอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย กระทั่งล่าสุดทองแดงในโอลิมปิกเกมส์
ในวัย 30 ปัจจุบัน “แต้ว”เรือตรีหญิง สุดาพร สีสอนดี รับราชการที่วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ ในการทำหน้าที่อาจารย์พลศึกษาให้กับนักเรียนพยาบาลกองทัพเรือ
1. “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ผู้สร้างสุขให้คนไทย
เกียรติประวัติเป็นหางว่าว สำหรับ “เทนนิส” เรืออากาศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก “โตเกียว 2020” ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นโอลิมปิกเหรียญที่สองหลังคว้าทองแดง “ริโอ เกมส์ 2016” ประเทศบราซิล ในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม
จากหนูน้อยจากสุราษฏร์ธานี ฝึกฝนฝึกปรือมาตั้งแต่อายุยังน้อยจนก้าวขึ้นมือ 1 ของโลก จากความผิดหวังในการเสียท่าพลาดให้กับคู่แข่งขันในช่วงท้ายที่บราซิล จึงทำได้แค่ทองแดง ก่อน กลับมาพลิกชนะในสถานการณ์เดียวกันคว้าเหรียญทองที่ญี่ปุ่น จนกลายเป็นเริ่องราวสุดดราม่า ทำให้เรื่องราวของ “เทนนิส”พาณิภัค ถูกถ่ายทอดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ด้วยวัยเพียง 24 นักเทควันโด้สาวยังอยู่เป็นอนาคตของทีมชาติในการไล่ล่าความสำเร็จ
พร้อมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับตัวเองและประเทศชาติ
เผยแพร่: 2 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.