เมื่อวันที่ 12-17 มกราคมที่ผ่านมาได้มีการแข่งขันแบดมินตันรายการโยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น 2020 ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับซูเปอร์ 1000 ของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ (BWF) โดยมีนักกีฬาจาก 22 ชาติเข้าร่วมการแข่งขัน ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี
ความท้าทายของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติครั้งนี้ของประเทศไทยอยู่ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมถึงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยด้วย แต่ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนรวมถึงมาตรการป้องกัน สุดท้ายการแข่งขันจึงสามารถเดินหน้าไปจนจบ พร้อมกับความสำเร็จของแบดมินตันคู่ผสมของไทยที่สามารถคว้าแชมป์ระดับซูเปอร์ 1000 ไปครองเป็นครั้งแรก
THE STANDARD จึงได้รวมภาพบรรยากาศของการแข่งขันแบดมินตัน BWF แบบ New Normal ครั้งแรกของโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
1. แชมป์ระดับซูเปอร์ 1000 ครั้งแรกของ บาส-ปอป้อ คู่มือวางอันดับ 3 ของโลกชาวไทย
ภาพคงสามารถบ่งบอกได้ถึงความรู้สึกวินาทีที่ บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่มือวางอันดับ 1 ของรายการ คู่มือวางอันดับ 3 ของโลก เอาชนะ ปราวีน จอร์แดน กับเมลาติ เดวา อ๊อตตาเวียนติ คู่มือวางอันดับ 2 ของรายการ คู่มือวางอันดับ 4 ของโลกจากอินโดนีเซียไป 2-1 เกม ในรอบชิงชนะเลิศ โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น
ชัยชนะครั้งนี้เป็นการปลดล็อกแชมปป์ระดับซูเปอร์ 1000 เป็นครั้งแรกของทั้งคู่ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่สำหรับนักกีฬาและเจ้าภาพ หลังจากที่การแข่งขันแบดมินตันระดับสากลถูกระงับมาเป็นเวลากว่า 10 เดือน นับตั้งแต่วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา
2. ไซนา เนห์วาล จากเชื้อสู่ซากเชื้อ บททดสอบแรกของเจ้าภาพ
จากมาตรการต่างๆ ที่เจ้าภาพได้วางไว้ก่อนการแข่งขันอย่างรัดกุมจนถึงวันแรกของการแข่งขัน ทำให้หลายฝ่ายมีความรู้สึกไว้วางใจมาตรฐานของการแข่งขันที่รวมเอานักกีฬากว่า 22 ประเทศเข้ามาแข่งขันกันอย่างปลอดภัยภายใต้ Bubble Quarantine ที่อิมแพ็ค อารีนา ซึ่งประกอบไปด้วยที่พัก สนามซ้อม และสนามแข่งขันสำหรับนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกว่า 800 ชีวิต
แต่เมื่อการแข่งขันวันแรกเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 12 มกราคม ปรากฏว่าสื่อต่างประเทศตั้งแต่ในอินเดียจนถึง Yahoo! Sports ลงข่าวพร้อมกันว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบับเบิลของการแข่งขันในประเทศไทย ซึ่งก็คือนักกีฬาอินเดีย ไซนา เนห์วาล อดีตนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือวางอันดับ 1 ของโลก และเอส. เอช. ปรานอย นักแบดมินตันชายเดี่ยว มือวางอันดับ 28 ของโลกจากอินเดีย
จากเหตุการณ์นั้นทำให้ทั้งสองคนต้องถอนตัวจากการแข่งขันเพื่อไปดำเนินการตรวจเชื้ออย่างละเอียดอีกครั้งที่โรงพยาบาล ก่อนที่จะมีแถลงการณ์จาก BWF อย่างเป็นทางการว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 4 ราย ซึ่งเป็นนักกีฬาจากอินเดีย 2 ราย เยอรมนี 1 ราย และอียิปต์ 1 ราย
แต่หลังจากการตรวจเชื้อทั้งหมดอีกครั้งพบว่า 3 ใน 4 เป็นซากเชื้อและมีภูมิคุ้มกัน ขณะที่ 1 ใน 4 คนที่พบเชื้อโควิด-19 อีกครั้งเป็นนักกีฬาจากอียิปต์
โดยแถลงการณ์ของ BWF ระบุว่า “ไซนา เนห์วาล และเอส.เอช. ปรานอย มีผลตรวจออกมาเป็นบวกจากการตรวจแบบ PCR แต่ผลการตรวจวิเคราะห์ภูมิคุ้มกัน (Antibody IgG) ของพวกเขาเป็นบวก ซึ่งการที่ผลตรวจแอนติบอดี้เป็นบวกหมายความว่าบุคคลนั้นติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วในอดีต แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาติดเชื้ออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 3 รายที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อช่วงปลายปี 2020 ทางคณะกรรมการมีความยินดีที่พบว่าพวกเขาไม่ติดเชื้อและไม่มีความเสี่ยงต่อทัวร์นาเมนต์
“อัดฮัม ฮาเตม เอลกามัล นักแบดมินตันจากอียิปต์ได้รับการตรวจและพบว่าผลเป็นบวกในการตรวจ PCR แต่ผลตรวจแอนติบอดี้ของเขาเป็นลบ ซึ่งหมายความว่าเขาไม่มีภูมิคุ้มกันไวรัส เอลกามัลไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ทางคณะกรรมการจึงได้แนะนำให้นักกีฬาถอนตัวจากการแข่งขัน”
สุดท้าย ไชนา เนห์วาล และเอส.เอช. ปรานอย จึงได้กลับมาลงแข่งขันรอบแรกในวันที่ 2 แทน จากการยืนยันว่าเชื้อที่ตรวจพบนั้นเป็นซากเชื้อโควิด-19
3. ฝึกซ้อมแบบ New Normal
หนึ่งในภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงแรกของบับเบิลที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี นับตั้งแต่ช่วงแรก หลังปิดบับเบิลในวันที่ 4 มกราคม 2020 คือสนามซ้อมสำหรับนักกีฬาแบดมินตันชั้นนำของโลกที่มีการนำเอาพลาสติกมาขึงกั้นระหว่างคอร์ตการฝึกซ้อม
ซึ่งมาตรการการฝึกซ้อมคือแต่ละชาติที่เข้าร่วมจะได้รับกำหนดการลงสนามซ้อมทีละประเทศ และจะต้องปฏิบัติตามกฎการเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ตลอดการเดินทางระหว่างที่พัก สนามฝึกซ้อม และสนามแข่งขัน
โดยนักกีฬาจากต่างประเทศต่างแสดงความชื่นชมต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด นำโดย มีอา บลิคเฟลด์ท นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวมือวางอันดับ 18 ของโลกจากเดนมาร์ก ได้โพสต์ข้อความบนอินสตาแกรมว่า
“มาตรการการป้องกันและมาตรการด้านสุขภาพสูงมาก เหมือนกับที่คุณเห็นในภาพว่าเรามีกำแพงป้องกันระหว่างทุกคอร์ตในฮอลล์สำหรับการฝึกซ้อม”
เชวอน เจมี ไล นักแบดมินตันคู่ผสมมือวางอันดับ 12 ของโลกจากมาเลเซีย โพสต์ข้อความว่า
“ฉันประทับใจมากกับการบริหารจัดการจากห้องพัก โรงแรม รถบัส สนามฝึกซ้อม จนกลับถึงโรงแรมที่พัก ทุกอย่างดูมีการจัดการที่ดี และมีการเว้นระยะห่างทุกที่”
4. เปลี่ยนลูกแบดมินตันแบบ New Normal
ในการแข่งขันรูปแบบปกติก่อนหน้านี้ นักกีฬาจะได้รับลูกแบดมินตันใหม่จากกรรมการผู้ตัดสิน แต่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันที่ต้องลดการสัมผัสระหว่างบุคคล ทำให้เกิดเป็นหลอดแจกลูกแบดมินตันรูปแบบใหม่ที่เริ่มต้นใช้งานเป็นครั้งแรกในแบดมินตันรายการนี้
5. ทำความสะอาดสนามแบบ New Normal
ระหว่างการแข่งขันทุกแมตช์ของแบดมินตันไม่ว่าจะระดับโลกหรือระดับคอร์ตแบดมินตันทั่วไป ย่อมมีทั้งเหงื่อของนักกีฬาและขนลูกแบดมินตันอยู่ทั่วทุกพื้นที่ แต่เพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ทุกครั้งที่เกมการแข่งขันจบลง เจ้าหน้าที่จะสวมใส่ชุดป้องกันลงมาทำความสะอาดทุกส่วนของสนามที่เกิดการสัมผัสขึ้น
6. Swap Test นักกีฬาทุก 4 วัน
หนึ่งในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของมหกรรมกีฬาทั่วโลกเวลานี้คือการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นประจำ โดยเฉพาะนักกีฬาในรายการนี้ที่ได้รับการตรวจเชื้อทุก 4 วัน ตลอดเวลาที่เข้าร่วมแข่งขันแบดมินตันทั้ง 3 รายการในบับเบิล ระหว่างวันที่ 12-31 มกราคม ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี
7. “Te quiero, papi” คาโรลินา มาริน การฉลองแชมป์เพื่อพ่อผู้ล่วงลับ
“Te quiero, papi” คือคำพูดที่ คาโรลินา มาริน เจ้าของแชมป์โลก 3 สมัยจากสเปนหันมากล่าวกับกล้องถ่ายทอดสดหลังจากเธอเอาชนะ ไถ้ซื่อหยิง มือวางอันดับ 1 ของโลกจากไต้หวันไป 2 เกมรวด ในแบดมินตันหญิงเดี่ยวรอบชิงชนะเลิศ
โดยสาเหตุที่เธอกล่าวว่า “Te quiero, papi” หรือ “ฉันรักพ่อนะ” หลังจากที่คว้าแชมป์โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น เนื่องจากนี่เป็นชัยชนะแรกของเธอหลังจากที่สูญเสียพ่อในปี 2020
หลังจากที่พ่อของเธอเสียชีวิตจากอาการป่วย เธอได้เขียนจดหมายขอบคุณทุกการสนับสนุนที่พ่อช่วยเติมเต็มความฝันในการเป็นนักแบดมินตันของเธอตั้งแต่เด็ก
“ฉันรู้ว่าพ่อภูมิใจกับลูกสาวของพ่อ แต่ฉันอยากจะบอกว่าลูกสาวของพ่อก็จะภูมิใจในตัวพ่อ หรือมากกว่าที่พ่อภูมิใจ
“พ่อเป็นคนที่ทำงานหนัก เป็นนักสู้ที่ไม่เหมือนใคร พ่อทุ่มเทขับรถไปทั่วเมืองอูเอลบาเป็นพันๆ ครั้ง ขนส่งอุปกรณ์ไปทั่วหลายโรงเรียน และพ่อเดินทางไปทั่วสเปนและทั่วโลกเพื่อช่วยให้ฉันทำตามความฝันจนสำเร็จ มันคงเป็นเรื่องยากที่จะหาใครบางคนที่ทุ่มเทความรักให้กับครอบครัวและผู้คนรอบตัวเหมือนกับที่พ่อเคยทำ
“ฉันอยากขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนฉันในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ฉันได้สูญเสียกำลังใจสำคัญในชีวิตไป แต่ฉันรู้ว่าไม่ว่าฉันไปที่ไหนก็จะมีดาวดวงหนึ่งบนท้องฟ้าที่จะเดินทางร่วมกับฉันไปในทุกหนแห่ง
“เราจะสู้ด้วยกันตลอดไปนะพ่อ
“Te quiero, papi’
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์