กว่า 6 ทศวรรษ ที่ “แถมสิน รัตนพันธุ์” เจ้าของนามปาก “ลัดดาซุบซิบ” นักข่าว นักเขียน ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ นับร้อย ๆ เรื่อง
ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับในหลวง อาทิ รักแรกพบ “ในหลวง – ราชินี” ครบรอบ 52 ปี – พระกระยาหารโปรดของในหลวง – ในหลวงทรงใช้ของธรรมดา ธรรมดา ในห้องสรงส่วนพระองค์ ย้อนอดีต “ในหลวง” ทรงแบดมินตัน สัปดาห์ละ 3 วัน งานช่างชิ้นแรกของ “ในหลวง”
เรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อาทิ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ศิษย์เก่าเซนต์ฟรังฯ เลขประจำตัว 371 อดีตหัวหน้าทีมวิ่งเปรี้ยว การบริหารพระวรกายของ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ” ดอกไม้ที่ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงโปรด”
เรื่องที่เกี่ยวกับราชวงศ์ อาทิ “สมเด็จพระบรมฯ” โปรดพระโอสถมวนของไทย และไฟแช็กอันละสิบบาท การดูแลพระพลานามัยของ “สมเด็จพระบรมฯ” เงินปีของ “สมเด็จพระเทพฯ” สูตร “ซุปหัวหอม” ของ “สมเด็จพระเทพฯ” พระอาจารย์ – ดีไซเนอร์ประจำพระองค์ และกีฬาโปรดของ “เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ”
และเล่าเรื่องราวในแวดวงสังคมชั้นสูง ผ่านคอลัมน์ “ลัดดาซุบซิบ” “ลัดดาครอบสังคม” “ลึก (ไม่) ลับกับลัดดา” ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ นิตยสารหลากหลายฉบับ พัฒนามาสู่จอโทรทัศน์ในชื่อว่า “สุดสัปดาห์กับลัดดาซุบซิบ”
กระทั่งนำเรื่องราวต่าง ๆ นำมารวมเล่มเป็นหนังสือกว่า 8 เล่ม หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือชื่อว่า “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท” เป็นหนังสือที่ทำลายสถิติขายดีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549 ทำให้ต้องจัดพิมพ์ใหม่ถึง 38 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 2 ปี
หลังจากถ่ายทอดเรื่องราวในรั้วในวัง “แถมสิน” บรรยายความประทับใจต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า
“ประทับใจมาตลอดเป็นเพราะพระองค์พระราชจริยวัตรอันงดงามของท่านที่ทรงทำในแต่ละวัน พระองค์ท่านเก่งหลายอย่าง ทั้งกีฬา ทั้งการเกษตร ท่านเป็นกษัตริย์ที่ไม่ทรงว่างเลย อย่างญี่ปุ่นเขามีกษัตริย์เหมือนกัน แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกกำหนดไม่ให้ลงมาสัมผัสกับประชาชน โดยรัฐบาลอเมริกันห้าม แต่กษัตริย์ของเราเหนื่อย พบปะราษฎรเสมอ จักรพรรดิญี่ปุ่นไม่เคยแบบนี้”
“ที่สำคัญพระองค์ท่านทรงทำงานหนักและทำตลอดมา ญี่ปุ่นยกย่องในหลวงเรามาก จากกรณีพล.อ.สุจินดา คราประยูร มีปัญหากับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ เมื่อ 2 คนนี้ได้เข้าเฝ้าฯ ปรับความเข้าใจกันได้ บ้านเมืองหยุด ความร่มเย็นมาทันที ซึ่งเป็นพระอัจฉริยภาพอันโดดเด่นของพระองค์ท่าน เพราะปกติพระองค์ท่านต้องอยู่เหนือการเมือง และจะไม่เข้ามา แต่กรณีนี้ต้องพระองค์ท่านออกมาเอง”
เหตุใดที่พระองค์ท่านทรงงานหนักทั้งๆ ที่เป็นพระมหากษัตริย์ “แถมสิน” อธิบายว่า “เป็นความพอพระทัยของท่านเอง ดูพระราชอิริยาบถของท่านสิ มียายแก่ยกมือไม้แล้วพระองค์ก็ก้มลงมา บ้านเมืองได้เปรียบกว่าญี่ปุ่น มาเลเซียเปลี่ยนกษัตริย์ทุก 4 ปี แต่ของเราพระองค์ท่านครองราชย์มา 70 ปี”
“และพระองค์ท่านก็เป็นครูในการใช้ชีวิตผม โดยพระองค์ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ผมมีรูป ๆ หนึ่งยืนข้างในหลวง (ร.9) ใส่เสื้อเหมือนกันเลย และท่านทรงรู้จักเรา ทรงงานของเรา รู้ว่าเราไม่หิวข่าว บางคนหิวข่าวเกินไปเลยต้องระวัง”
“พระองค์ท่านเล่นเรือใบ ก็ได้รับเหรียญทอง ถ่ายภาพก็มีพิพิธภัณฑ์ พระองค์ท่านสำเร็จทั้งนั้น พระกระยาหารก็เสวยเหมือนคนทั่วไป คือถ้าดีเกินไปพระองค์ท่านก็ไม่เสวย ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล เป็นแม่ครัวใหญ่ (พระเครื่องต้นไทย) เคยบอกว่า หมูไม่ต้องมาก มีผัก พระองค์ท่านทานง่ายๆ”
“แต่พระองค์ไม่ทรงเสวยปลานิล เพราะแต่ก่อนจักรพรรดิญี่ปุ่นส่งปลานิลมา 300 ตัว ปรากฏว่ามาถึงตายหมด เหลือ 50 ตัว ในหลวงท่านเอาไปเลี้ยงโดยพระองค์เอง เวลานี้ปลานิลเลี้ยงคนทั้งประเทศ พระองค์ท่านจึงไม่เสวยปลานิล มีคนไปถามพระองค์ท่านว่า เอ๊ะทำไมท่านไม่เสวยปลานิล บางคนกล้าหาญชาญชัยไปถามท่าน พระองค์ท่านทรงตรัสว่าเราเลี้ยงมาเหมือนลูกแล้วจะไปกินได้อย่างไร จนปลานิลขายไปทั่วโลก เมืองไทยก็แพร่หลาย”
ปัจจุบัน “ปลานิล” ที่เจ้าของคอลัมน์ “ลัดดาซุบซิบ” เอ่ยถึง คือ “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”
ไม่เพียงพระองค์ท่านใส่ใจราษฎรยากจน หรือ ประสบความเดือดร้อนทั่วไปเท่านั้น แต่พระองค์ยังใส่ใจฎีกาของนักโทษที่ขอพระราชทานอภัยโทษด้วย ซึ่งพระองค์ท่านทรงวินิจฉัยฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษด้วยพระองค์เอง ปีๆ หนึ่งมีจำนวนร่วมหลายพัน และทอดพระเนตรเอกสารทุกชิ้นด้วยพระองค์เอง
“อีกทั้งแต่ก่อนนี้พระองค์ท่านพระราชทานปริญญาบัตรเพียงพระองค์เดียว ตลอด 30 ปี พระองค์ทรงพระราชทานปริญญาบัตรให้ผู้สำเร็จการศึกษา 470,000 คน คิดเป็นนำหนัก 141 ตัน ข้อมูลนี้ก็ได้มาจากในวัง ต้องเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง”
“แถมสิน” เคยเล่าเกี่ยวกับ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “เวลามีวันเกิด พระองค์ท่านจะให้ผู้แทนพระองค์นำดอกไม้พระราชทานมาให้ทุกปี ก็เป็นที่ปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณ”
“ที่สำคัญในวันครบรอบงานแต่งงาน ครบ 52 ปี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ให้เราเข้าไปในวัง เราก็ไม่รู้ว่าไปเรื่องอะไร ปรากฏว่า รดน้ำสังข์ให้ใหม่ เป็นสิริมงคล เราใกล้ชิดมาก แต่ไม่เคยเอามาคุย”
แต่พลันที่ได้ข่าวการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 “แถมสิน” ก็รู้สึกเศร้าไม่ต่างกับคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามมากมาย ถึงวิธีการหาข้อมูล” ของ “ลัดดาซุบซิบ” ว่าทำออย่างไรถึงเข้าวงในไปหาข่าวในราชสำนักได้
“แถมสิน” ตอบว่า “มีคนมาถามผมว่าต้องขอพระบรมราชานุญาตหรือเปล่า เราก็แกล้งถามกลับว่าเป็นยังไงครับขออนุญาต เราไม่ได้ขอ เพียงแต่เราจะเสนอข่าวที่ถูกต้อง ดีงาม และเป็นข่าวที่คนทั่วไปสนใจอยากทราบ”
“เรื่องข่าวไฮโซ ข่าวในวัง มันไม่ใครทำ และไม่รู้แหล่งข่าวมาจากไหน เดี๋ยวผิด เป็นเรื่องเดือดร้อนเสียหาย แต่เราทำ ข่าวของเราไม่เปิดเผยชื่อของคนที่ให้ข่าว แต่เป็นข่าวที่เชื่อถือได้”
ด้วยความเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทำให้ “แถมสิน” กลายเป็นคน “กว้างขวาง” ในทุกวงการ รู้จักคนมากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งคนในรั้วในวัง
“เราก็พอรู้จักคนในวัง มีคนเขียนคำตอบมาให้ แต่ต้องเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันมาก ในวังสมัยก่อนไม่ได้ใหญ่อย่างนี้ รู้จักกันหมด แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังผูกพันกันอยู่”
หลายทศวรรษที่ “แถมสิน” ต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องในราชสำนัก แต่กลับไม่เคยถูกฟ้องร้อง หรือ ถูกดำเนินคดีเลยเป็นเพราะ
“เราก็เขียนออกในเชิงยกย่อง สรรเสริญ อย่าไปเบลม ไปบลัฟกัน ถ้าอย่างนั้นก็ต้องติดคุก และกับแหล่งข่าวรู้จักกันดี ขอกันทางโทรศัพท์ ไม่มี ไม่ได้เป็นหลักเป็นฐานอะไร แต่เชื่อถือได้ว่าคนนี้ให้ข่าวมาเป็นเรื่องจริง”
“การหาข่าวก็จะอยู่ในเรื่องไปนอก กลับจากนอก หมั้นหมาย แต่งงาน บวช เบียด ท้อง แท้ง แต่รีดลูกไม่เอานะ สั้น ๆ จบในตัวเอง ไม่ใช่เขียนข่าวยาวแล้วต่อเต่ออะไรไม่ใช่”
“เรื่องที่เขียนก็เพราะคนถามมา ไม่รู้จะถามใคร ถามมาเรา เราก็ตอบได้ ตั้งโจทย์จากคำถามของผู้อ่าน ผู้ชม”
เคล็ดลับอย่างหนึ่งของ “แถมสิน” ในการ “หาข่าว” คือ จะต้องไม่หิวข่าวจนเกินไปนัก บางคนหิวข่าวเกินไปเลยต้องระวัง จะพูดจะจาอะไร กลัวไปหมด เดี๋ยวเกิดความเสียหาย
แต่การเข้าถึงในรั้วในวังทำให้เขาต้องระวังตัวในบางครั้ง
“บางทีต้องระวังตัว เพื่อนคนหนังสือพิมพ์ไม่ค่อยชอบเรา หมั่นไส้ ว่าไอ้นี่เข้าไปอยู่ในวัง แต่ทำงานช่วงนั้นก็มีช่างภาพอีกคนชื่อสุทัศน์ พัฒนสิงห์ เขาเป็นช่างภาพโดยอัตโนมัติ มีอะไรก็ตามเสด็จ คนรู้จักมาก”
นับถึงปีที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 สวรรคต “แถมสิน” เป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำการมาแล้ว 4 แผ่นดิน หากนับถึงวันที่แถมสิน จากไป เขาคือ คอลัมนิสต์ 5 แผ่นดิน
“ที่ไม่ประจำการคือนอนรอวันตาย..แต่นี่ไม่ใช่ เราทำข่าว ทำรายการโทรทัศน์ สุดสัปดาห์กับลัดดาซุบซิบ” แถมสิน กล่าว
จากที่เริ่มต้นชีวิตบนเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ครั้งแรกปี 2496 ในหนังสือพิมพ์กีฬามวย ขายข่าวได้เงินชิ้นละ 30 บาท
ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวหลักเมืองชีวิตใหม่ ผลักดันนักหนังสือพิมพ์รุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้าสู่วงการ จนมีชื่อเสียง อย่าง “ระวิ โหลทอง” – “มานิจ สุขสมจิต” ได้เงินเดือน ๆ ละ 1,000 บาท พอใจกับชีวิตนกน้อยในไร่ส้ม
ก้าวเข้าสู่ชายคาเสียงอ่างทอง ของ “กำพล วัชระพล” และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงบัดนี้ ลงมือทำข่าวแวดวงชั้นสูง และข่าวในราชสำนัก ได้รับการยอมรับจากทุกวงการ
นับถือ “สุวัฒน์ วรดิลก” เป็นครูในงานเขียน นับถือ “อิศรา อมันตกุล” เป็นครูงานหนังสือพิมพ์
เคยอยากถูกจับตามนักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้สังคม เพราะ “เราเป็นเด็กก็อยากติดคุกบ้างเหมือนกัน ติดคุกแต่อย่าติดนาน เพราะจะเป็นประกาศณียบัตรแห่งวิชาชีพ” แต่ก็ไม่เคยถูกติดคุก
ก่อนในเวลาต่อมาเป็นทั้งนักการเมือง ทั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการรัฐวิสาหกิจกระทรวงคมนาคม ฯลฯ แม้กระทั่ง ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยก็เคยเป็นมาแล้ว
“แถมสิน” ในวัย 88 ปี ผ่านการรักษาตัวจากโรคมะเร็งมาแล้ว 2 ครั้ง 2 ครา แต่ก็หายได้โดยไม่ต้องใช้เคมีบำบัด
เคยเป็นหนึ่งใน 250 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งขาติ (สนช.) ที่เดินเหินแข็งแรง ทักทาย สนช. รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในกองทัพ เดินเข้ามากราบสวัสดีพร้อมเรียกชื่อ “พี่แถม” ไม่เว้นว่าง
- ไว้อาลัยตำนานคอลัมนิสต์กอสซิป “ลัดดาซุบซิบ” แถมสิน รัตนพันธ์ วัย 92 ปี