การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เปิดฉากการแข่งขันไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 และจะทำการแข่งขันไปจนกระทั่งสิ้นสุดวันที่ 5 กันยายน 2564 ใช้ระยะเวลาการแข่งขันทั้งหมด 12 วัน ซึ่งเป็นงานแข่งขันกีฬานานาชาติสำหรับผู้พิการ ถ้าจะเทียบความยิ่งใหญ่ในความเป็นศึกการแข่งขันทางกีฬาก็คงจะเทียบได้กับ “โอลิมปิกเกมส์”
ย้อนประวัติที่มาที่ไปของพาราลิมปิกเกมส์ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ. 1948 เรียกว่า the Stoke Mandeville Games ประเทศอังกฤษ ลอนดอน ต่อมาใช้ชื่อการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ (Paralympic) ครั้งแรกปี ค.ศ. 1960 กรุงโรม อิตาลี
ทั้งนี้ เหตุผลที่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์จัดร่วมกันทุกครั้งแม้ว่าคณะกรรมการของทั้ง 2 จะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยพาราลิมปิกเกมส์ดำเนินการโดยคณะกรรมการพาราลิมปิกเกมส์ (IPC)
ส่วนโอลิมปิกดำเนินการโดยคณะกรรมการโอลิมปิกเกมส์ (IOC) แต่จะมีข้อตกลงร่วมกันอย่างหนึ่งคือ ให้เจ้าภาพที่จัดโอลิมปิกเกมส์ต้องจัดพาราลิมปิกเกมส์ด้วย เนื่องจากในอดีตมีปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณในการจัดการแข่งขัน
สำหรับพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 มีการแข่งขันทั้งหมด 27 ชนิดกีฬา ซึ่งในปีนี้มีกีฬาที่ถูกบรรจุเข้ามาใหม่ 2 ชนิด คือ แบดมินตัน และเทควันโด ซึ่งนำมาแทนกีฬาเรือใบและฟุตบอล 7 คน
ขณะเดียวกันมีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 4,400 คนจากทั่วโลก และมีนักกีฬาของไทยจำนวน 77 คน ใน 14 ชนิดกีฬา ได้แก่ เทควันโด, ยิงธนู, แบดมินตัน, วีลแชร์ฟันดาบ, ยกน้ำหนัก, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, กรีฑา (ลู่-ลาน, วีลแชร์เรซซิ่ง), จักรยาน, ยิงปืน, วีลแชร์เทนนิส, บอคเซีย, ฟุตบอลตาบอด และยูโด
แม้ว่าจะจัดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก แต่การแข่งขันดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเป็นมาตรฐาน
ล่าสุด ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ทัพนักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ทั้งสิ้น 5 เหรียญ ซึ่งถือเป็นเหรียญรางวัลชุดแรกและไฮไลต์ โดยดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ จะพาไปรู้จักฮีโร่นักกีฬาผู้คว้าเหรียญชุดแรก
เริ่มต้นที่ผู้ประเดิมเหรียญแรกให้กับทัพนักกีฬาไทยอย่าง “สายสุนีย์ จ๊ะนะ” ผู้คว้าเหรียญทองแดงในกีฬาวีลแชร์ฟันดาบสาวไทย “แวว” สายสุนีย์ จ๊ะนะ ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ผู้มากความสามารถเริ่มต้นการเล่นกีฬาคนพิการจากวีลแชร์บาสเกตบอล ก่อนจะหันมาเล่นวีลแชร์ฟันดาบ
โดยผลงานการลงแข่งขันพาราลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ คว้าเหรียญทอง ประเภทดาบเอเป้ คลาสบี และเหรียญทองแดง ประเภทดาบฟอยล์ คลาสบี มาครองและกลายเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกและคนเดียวของไทยถึง ณ ปัจจุบันที่คว้า “เหรียญทอง” พาราลิมปิกมาครองได้สำเร็จ
สำหรับผลงานอื่น ๆ ก็มีมากมายเช่นกัน ได้แก่ เหรียญเงิน พาราลิมปิก 2008 ที่ปักกิ่ง, เหรียญทอง พาราลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน และเหรียญเงิน พาราลิมปิก 2016 ที่ริโอเดจาเนโร จนกระทั่งล่าสุดคือ เหรียญทองแดง พาราลิมปิก 2020 ที่โตเกียว
ต่อมาคือ “รุ่งโรจน์ ไทยนิยม” นักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองแดงให้กับทัพนักกีฬาไทยในพาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 ซึ่งรุ่งโรจน์ ไทยนิยม เป็นคนพิการแต่กำเนิด และต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะได้โลดเล่นบนเส้นทางกีฬา
ย้อนผลงานกลับไปเป็นผู้ได้รับรางวัลเหรียญทองแรกของทีมชาติไทยในพาราลิมปิกฤดูร้อน 2012 ซึ่งนับเป็นเหรียญทองแรกของไทยในการแข่งขันเทเบิลเทนนิสในพาราลิมปิก จากการแข่งขันเทเบิลเทนนิสประเภทชายเดี่ยว คลาส 6
“พงศกร แปยอ” นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง ผู้คว้าเหรียญทองในพาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 พร้อมกับทำลายสถิติโลก 46.82 วินาที ของเบรนท์ ลากาตอส โดยพงศกร แปยอ หรือ “กร” ชาวจังหวัดขอนแก่น
เคยคว้า 2 เหรียญทอง จากการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในรายการ 400 เมตร คลาส T 53 และ 800 เมตร คลาส T 53 และยังเคยเป็นแชมป์โลก 400 เมตร คลาส T 53 เมื่อปี 2019 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
เริ่มเล่นกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง ตั้งแต่อายุ 13 ปี โดยมีอาจารย์สากล ทัพสมบัติ ที่สนิทกันชักชวนให้ไปแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 30 “นครสุโขทัยเกมส์” เมื่อปี 2009 และประเดิมด้วยการคว้าเหรียญทองแดงวีลแชร์เรซซิ่ง ประเภท 100 เมตร กับ 400 เมตร
“ภูธเรศ คงรักษ์” นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย ที่สามารถคว้าเหรียญทองแดงให้กับทัพนักกีฬาไทยในพาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 โดยผลการแข่งขัน ภูธเรศ คงรักษ์ ที่เข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 3 ด้วยเวลา 10.30.37 นาที คว้าเหรียญทองแดงที่ 3 ให้กับทัพนักกีฬาทีมชาติไทยในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้
“อธิวัฒน์ แพงเหนือ” นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่ง คว้าเหรียญเงินในพาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 เคยมีผลงานครองแชมป์เวิลด์ กรังด์ ปรีซ์ 2021 ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยการแข่งขันในครั้งนี้ “ฟิว” อธิวัฒน์ พลาดในการเข้าเส้นชัยช้ากว่าคู่แข่งเพียง 0.01 วินาทีเท่านั้น คว้าเหรียญเงินมาครอง
สำหรับเป้าหมายการแข่งขันพาราลิมปิกของทัพนักกีฬาไทยในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6 เหรียญทอง จาก 4 ชนิดกีฬา ได้แก่ บอคเซีย, วีลแชร์เรซซิ่ง, ยิงธนู และวีลแชร์ฟันดาบ
โดยหากเมื่อเทียบกับพาราลิมปิกครั้งก่อนหน้า ทัพนักกีฬาไทยสามารถทำเหรียญทองได้มากที่สุดใน 5 ชนิดกีฬา ได้แก่ กรีฑา, บอคเซีย, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส และวีลแชร์ฟันดาบ
ช่วยลุ้นและเป็นกำลังใจให้กับทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020 ให้สามารถคว้าเหรียญรางวัลและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในกีฬานานาชาติสำหรับผู้พิการครั้งนี้