ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเธอเกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพียงเพราะผู้ใหญ่ไม่ต้องการให้เธอเล่นซน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากแม่ปุก หรือนางกมลา ทองกร เจ้าของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดที่คอยดูแลน้องเมย์มาตั้งแต่เด็ก และได้นำเธอมาฝากฝังกับโค้ชชาวจีน ‘เซี่ยจือหัว’ อดีตนักตบลูกขนไก่ทีมชาติจีน ซึ่งมีเทคนิคการสอนที่เน้นไปที่ความมีระเบียบวินัย ฝึกฝนทักษะรอบด้าน และเชี่ยวชาญแก้เกมคู่ต่อสู้ ทำให้น้องเมย์สามารถพัฒนาทักษะขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นหนึ่งในนักแบดมินตันฝีมือดีอย่างหาตัวจับได้ยากตั้งแต่วัยเยาว์
หลังจากหัดเล่นได้ไม่นาน เธอก็ลงแข่งขันครั้งแรกในรายการอุดรธานี โอเพ่น ประเภทหญิงเดี่ยว ในรุ่นอายุไม่เกิน 9 ปี และคว้าแชมป์มาได้ในขณะที่มีอายุเพียง 7 ปี ก่อนจะคว้าแชมป์รายการอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเภทหญิงเดี่ยว และหญิงคู่
“น้องเมย์” ลงแข่งขันและได้แชมป์ระดับเยาวชนหลายรายการ พร้อมกับก้าวขึ้นไปสู่เวทีใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะมาแจ้งเกิดแบบเต็มตัวในวัย 14 ปี ในการแข่งขัน BWF WORLD JUNIOR CHAMPIONSHIPS ครั้งที่ 14 และเธอยังสามารถคว้าแชมป์เยาวชนโลกสมัยแรก ครองแชมป์ประเทศไทย และได้รองแชมป์หญิงเดี่ยวซีเกมส์ และที่น่าทึ่งขึ้นไปอีก คือนักตบลูกขนไก่ชาวไทยคนนี้สามารถครองบัลลังก์แชมป์เยาวชนโลก 3 ปีซ้อน ในปีพ.ศ. 2552, 2553 และ 2554 ซึ่งเป็นนักกีฬาแบดมินตันหญิงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ทำได้
แต่ผลงานที่ทำให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจเธอมากยิ่งขึ้น คือการผ่านเข้าไปถึงรอบ 8 คนสุดท้าย ในการแข่งขันแบดมินตันหญิงเดี่ยว มหกรรมกีฬาโอลิมปิก เมื่อปีพ.ศ. 2555 ที่กรุงลอนดอน แม้ว่าการแข่งในครั้งนั้นน้องเมย์จะเป็นฝ่ายแพ้ แต่ก็เป็นการแพ้ที่ชนะใจคนทั่วโลก เพราะเธอสามารถสู้ได้สมศักดิ์ศรี ไม่เป็นรองมือระดับโลกเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค และฝีมือทั้งที่เป็นโอลิมปิกครั้งแรกของเธอ
ถัดจากนั้นเพียงปีเดียว เธอก็ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิต กลายเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่คว้าแชมป์โลก ด้วยอายุเพียงแค่ 18 ปี 6 เดือน กับ อีก 6 วัน โดยสามารถเอาชนะ “ลี เสี่ยวเร่ย” แชมป์โอลิมปิกคนล่าสุดจากจีน พร้อมสร้างสถิติเป็นแชมป์โลกที่อายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ และกลายเป็นแรงบันดาลใจของใครต่อหลายคน จนทำให้ประเทศไทยมีนักกีฬาแบดมินตันรุ่นใหม่ฝีมือดีตามมามากมาย
นอกจากฝีมือการเล่นอันเยี่ยมยอดแล้ว หากใครเคยติดตามชมการแข่งขันของเธอจะสังเกตเห็นว่า รัชนกจะยกมือไหว้ขอบคุณผู้ชมในสนามทั้ง 4 ทิศเสมอ เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขัน ไม่ว่าผลจะออกมาแพ้หรือชนะ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้สมาคมแบดมินตันของอินเดียส่งหนังสือแสดงความยกย่องเอกลักษณ์ดังกล่าวมายังสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยด้วย
จากวันนั้นถึงวันนี้ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ได้ประกาศให้โลกรู้ว่า การเป็น ‘แชมป์โลก’ ที่อายุน้อยที่สุดในปีพ.ศ. 2556 ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เกิดจากผลของความมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยตั้งแต่ 6 ขวบ น้องเมย์ต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 เพื่อออกกำลังและวิดพื้นเสริมสร้างกำลังแขน วันธรรมดาจะซ้อมกัน 5 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าเสาร์-อาทิตย์ ซ้อมหนัก 7 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการเรียน ซึ่งปัจจุบันเธอกำลังศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
ผลจากการซ้อมอย่างเข้มงวด และการมีระเบียบวินัย ส่งผลให้วันนี้เธอยังคงเป็นนักแบดมินตันคนหนึ่งที่รักษามาตรฐานการเล่นได้อย่างคงเส้นคงวา เพราะนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 เป็นต้นมา เธอไม่เคยหลุดจาก Top 10 ของโลกมานานเกือบ 9 ปีแล้ว โดยปัจจุบัน เธอรั้งอันดับ 5 ของโลก และยังคงเป็นอันดับสูงสุดของนักแบดมินตันสาวไทย จากการจัดอันดับครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ก่อนที่วงการแบดมินตันโลกจะต้องพักยาวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โปรไฟล์
ชื่อ-สกุล : รัชนก อินทนนท์
ชื่อเล่น : เมย์
เกิด : 5 กุมภาพันธ์ 2538 (ยโสธร)
ผลงาน :
– แชมป์แบดมินตันเยาวชนชิงแชมป์โลก 3 สมัยติด (พ.ศ. 2552-2554)
– พ.ศ. 2552 ได้รางวัลนักแบดมินตันดาวรุ่งยอดเยี่ยมประจำปี จากสหพันธ์แบดมินตันโลก
– ได้รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยุวชนหญิงยอดเยี่ยม สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย 2 ปีติด (พ.ศ. 2552-2553)
– พ.ศ. 2553 ได้รางวัลนักกีฬาที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทั่วโลก จากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล
– เหรียญทองประเภททีมหญิง ซีเกมส์ 3 ปี (พ.ศ.2554, 2558 และ 2562)
– พ.ศ. 2556 นักแบดมินตันที่อายุน้อยที่สุดที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก จากการคว้าแชมป์โยเน็กซ์ ซันไรส์ อินเดีย โอเพ่น
– พ.ศ. 2556 แชมป์แบดมินตันชิงแชมป์โลก (คนแรกของประเทศไทย และแชมป์โลกแบดมินตันที่มีอายุน้อยที่สุด)
– พ.ศ. 2557 ได้รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมหญิง สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 8
– พ.ศ. 2558 แชมป์แบดมินตันชิงแชมป์เอเชีย
– ได้รางวัลนักกีฬาสมัครเล่นยอดเยี่ยมหญิง สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย (ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) 3 ปี (พ.ศ. 2554, 2556 และ 2558)
– แชมป์รายการระดับซูเปอร์ ซีรีส์ พรีเมียร์, ระดับซูเปอร์ ซีรีส์, ระดับกรังด์ปรีซ์ โกลด์ และระดับกรังด์ปรีซ์ อีกหลายรายการ
เผยแพร่: 2 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.