รวม 114.6 ล้านบาท สรุปยอดเงินอัดฉีดพาราลิมปิก 2020 ทั้ง 18 เหรียญของนักกีฬาไทย – ไทยรัฐ

วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ SQ736 ได้นำคณะนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย พร้อมเจ้าหน้าที่และสตาฟฟ์โค้ช จำนวน 68 คน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานภูเก็ตโดยสวัสดิภาพ ทันทีที่เสร็จสิ้นพิธีการตรวจคนเข้าเมืองและเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นคณะนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทยก็ได้เดินทางเข้าสู่ที่พักเพื่อกักตัว 14 วัน ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

นักกีฬาที่เดินทางกลับมาในชุดนี้ ประกอบไปด้วย นักกรีฑาลู่-ลาน-วีลแชร์เรซซิ่ง, เทเบิลเทนนิส, ทีมฟุตบอลตาบอล, นักยิงธนู, นักว่ายน้ำ, นักเทควันโด รวมเจ้าหน้าที่และโค้ช ส่วนนักกีฬาชุดสุดท้าย ประกอบด้วย นักแบดมินตัน, นักบอคเซีย, นักวีลแชร์เทนนิส, นักยิงปืน รวมอีก 54 คน โดยสายการบินเดียวกัน และจะถึงจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 8 กันยายน เวลา 9.25 น. ตามเวลาไทย ซึ่งทั้งหมดจะเข้ากักตัวที่จังหวัดภูเก็ต ในโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ต่อไป

สำหรับทัพนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย ทำผลงานในมหกรรมกีฬา “พาราลิมปิก โตเกียว 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้อย่างสุดยอด กวาดไปทั้งหมด 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง รวม 18 เหรียญรางวัล จบการแข่งขันอันดับที่ 25 และเป็นอันดับที่ 6 ของทวีปเอเชีย รองจากจีน (เจ้าเหรียญทอง), ญี่ปุ่น, อิหร่าน, อุซเบกิสถาน และอินเดีย โดยทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย ยังครองเบอร์ 1 ของอาเซียนเหนือกว่า มาเลเซีย ที่จบอันดับ 39 ทำไป 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน

หลักเกณฑ์ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ กำหนดให้นักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลมีสิทธิ์เลือกรับเงินรางวัล 2 เงื่อนไขตามที่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติระบุในประกาศ เงื่อนไขแรก เหรียญทอง จะได้รับเงินอัดฉีด 7,200,000 บาท เหรียญเงิน 4,800,000 บาท และเหรียญทองแดง 3,000,000 บาท โดยเงื่อนไขนี้จะแบ่งจ่าย ซึ่งจ่ายเป็นก้อนให้นักกีฬาก่อนในอัตราร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 จะจ่ายเป็นรายเดือน ภายในระยะเวลา 4 ปี

สำหรับเงื่อนไขที่สอง จ่ายครั้งเดียวเป็นก้อนเดียว แต่จะได้รับในอัตราที่น้อยลง โดยเหรียญทองจะได้รับเงินรางวัลทั้งสิ้น 6,000,000 บาท, เหรียญเงิน 4,000,000 บาท และเหรียญทองแดง 2,500,000 บาท

จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว นักกีฬาพาราลิมปิกไทยคว้า 5 เหรียญทองจาก

พงศกร แปยอ วีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตร T53 รับ 7.2 ล้านบาท

พงศกร แปยอ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 เมตร T53 รับ 7.2 ล้านบาท

พงศกร แปยอ วีลแชร์เรซซิ่ง 800 เมตร T53 รับ 7.2 ล้านบาท

(พงศกร แปยอ รับเงินอัดฉีดรวม 21.6 ล้านบาท)

อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 100 เมตร T54 รับ 7.2 ล้านบาท

วิษณุ ฮวดประดิษฐ์, สุบิน ทิพย์มะนี, วัชรพล วงษา, วรวุฒิ แสงอำภา (บอคเซียทีม BC 1-2) จำนวน 4 คน รับคนละ 7.2 ล้านบาท รวม 4 คน 28.8 ล้านบาท

รวม 5 เหรียญทองของทัพไทยรับเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติไปทั้งสิ้น 57.6 ล้านบาท

—————–

ส่วน 5 เหรียญเงินของทัพนักกีฬาไทย ได้จาก

อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตร T54 รับ 4.8 ล้านบาท

ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร T54 รับ 4.8 ล้านบาท

พรโชค ลาภเย็น บอคเซีย บุคคล บีซี 4 รับ 4.8 ล้านบาท

วัชรพล วงษา บอคเซีย บุคคล บีซี 2 รับ 4.8 ล้านบาท

สุจิรัตน์ ปุกคำ แบดมินตัน หญิงเดี่ยว คลาส WH 1 รับ 4.8 ล้านบาท

รวมเงินอัดฉีดเหรียญเงินจากกองทุนฯ 24 ล้านบาท

—————–

ขณะที่อีก 8 เหรียญทองแดงของทัพไทยได้มาจาก

สายสุนีย์ จ๊ะนะ วีลแชร์ฟันดาบ เอเป้ คลาสบี รับ 3 ล้านบาท

รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เทเบิลเทนนิส บุคคลชาย คลาส 6 รับ 3 ล้านบาท

ภูธเรศ คงรักษ์ วีลแชร์เรซซิ่ง 5,000 เมตร T54 รับ 3 ล้านบาท

ภูธเรศ คงรักษ์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร T54 รับ 3 ล้านบาท

อนุรักษ์ ลาววงษ์, ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น, ถิรายุ เชื้อวงษ์ (เทเบิลเทนนิส ทีมชาย คลาส 3) รับคนละ 3 ล้านบาท รวม 3 คน 9 ล้านบาท

ขวัญสุดา พวงกิจจา เทควันโด คลาส K44 น้ำหนักไม่เกิน 49 กก. รับ 3 ล้านบาท

สายชล คนเจน วีลแชร์เรซซิ่ง 800 เมตร T54 รับ 3 ล้านบาท

สุจิรัตน์ ปุกคำ-อำนวย เวชวิฐาน แบดมินตัน หญิงคู่ คลาส WH รับคนละ 3 ล้านบาท รวม 2 คน 6 ล้านบาท

รวมยอดอัดฉีดเหรียญทองแดงเป็นเงิน 33 ล้านบาท

—————–

สรุปยอดรับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติของทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย รวมทั้งสิ้น 114.6 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมเงินรางวัลที่โค้ชได้รับ 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินรางวัลนักกีฬา และสมาคมกีฬาฯ ได้รับ 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินรางวัลนักกีฬา.