แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทยก็ทำผลงานได้น่าประทับใจในโตเกียวพาราลิมปิก 2020 ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากผ่านการคัดเลือกเข้าไปร่วมแข่งขันมากถึง 74 คนซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าพาราลิมปิกทุกครั้งที่ผ่านมา และยังคว้ามาได้ถึง 18 เหรียญ ดันไทยขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 25 ของตารางสรุปเหรียญ
การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. และปิดฉากลงวันนี้ (5 ก.ย.) โดยคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบการส่งนักกีฬาไทยลงแข่งขันใน 14 ชนิดกีฬา คือ เทควันโด ยิงธนู แบดมินตัน วีลแชร์ฟันดาบ ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส กรีฑา (ลู่-ลาน,วีลแชร์เรสซิง) จักรยาน ยิงปืน วีลแชร์เทนนิส บอคเซีย ฟุตบอลตาบอด และยูโด
ทัพนักกีฬาไทยประเดิมเหรียญแรกได้ในวันที่ 2 ของการแข่งขัน จากผลงานของสายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ ที่เอาชนะคู่ต่อสู้จากจีนในการแข่งขันประเภทดาบเอเป้ หญิงเดี่ยว ในรอบรองชนะเลิศ ได้เหรียญทองแดงมาครองเมื่อวันที่ 26 ส.ค.
จากนั้นก็เก็บเหรียญมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากทีมกรีฑา นำโดยพงศกร แปยอ ที่ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายด้วยการคว้าถึง 3 เหรียญทองจากการแข่งขันประเภท 100, 400 และ 800 เมตรชาย T53 แถมยังทุบสถิติได้ทั้ง 3 รายการ คือ ทำลายสิถิติโลกระยะ 400 เมตร และทำลายสิถิติพาราลิมปิกระยะ 100 และ 800 เมตร
นักกีฬาพาราลิมปิกอีกคนหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงมากคือ ขวัญสุดา พวงกิจจา หรือ “ขวัญ” นักเทควันโดสาววัย 21 ปี ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักเทควันโดคนพิการทีมชาติคนแรกที่ได้เป็นแชมป์โลกรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กก. ระดับความพิการ K44 เมื่อปี 2019
ที่โตเกียวพาราลิมปิกคราวนี้ ขวัญสุดาผ่านเข้าไปถึงรอบชิงเหรียญทองแดง รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กก. หญิง K44 และสามารถเอาชนะคู่แข่งจากอุซเบกิสถานไปอย่างขาดลอย ได้รับการบันทึกว่าเป็นนักกีฬาพาราไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัลจากเทควันโด
สื่อกีฬาหลายสำนักเล่าถึงประวัติของขวัญสุดาว่าเธอมาจากครอบครัวที่ยากจนมาก ถึงขนาดที่ไม่มีไฟฟ้า จนที่บ้านต้องใช้ตะเกียงน้ำมัน และอุบัติเหตุจากตะเกียงน้ำมันนี่เองที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้พิการต้องเสียแขนซ้ายไป
รอยยิ้มของขวัญสุดาขณะที่เธอวิ่งโบกธงชาติไทยไปรอบสนามนำความสุขให้โค้ช ทีมงานและคนไทยถ้วนหน้า
กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติกำหนดจะมอบเงินอัดฉีดให้นักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทยที่คว้าเหรียญรางวัลมาได้ดังนี้ เหรียญทอง 7.2 ล้านบาท เหรียญเงิน 4.8 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 3 ล้านบาท แม้จะเป็นจำนวนเงินไม่น้อย แต่ก็ยังน้อยกว่าเงินอัดฉีดสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก (เหรียญทอง 12 ล้านบาท เหรียญเงิน 7.5 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท) นำมาซึ่งเสียงเรียกร้องให้ปรับเงินอัดฉีดของนักกีฬาพาราลิมปิกให้เท่ากับนักกีฬาโอลิมปิกทีมชาติ
สรุปตารางเหรียญพาราลิมปิก 2020 ไทยอยู่ในอันดับที่ 25 จาก 18 เหรียญรางวัล (5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง) ส่วนอันดับ 1-3 ในตารางคือ จีน สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ส่วนเจ้าภาพญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 11
จำนวนเหรียญที่ได้ในโตเกียวพาราลิมปิกเท่ากับ 18 เหรียญรางวัลที่ทัพนักกีทำได้ในพาราลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล (6 เหรียญทอง 6 เหรียญเงิน 6 เหรียญทองแดง) แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอันดับไหนบนตารางเหรียญ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยก็สรุปเอาไว้อย่างดีว่า “จำนวนเหรียญในตาราง ไม่สำคัญเท่ากับพวกเรานักกีฬาพาราไทยได้แสดงความสามารถและความมุ่งมั่นให้ทุกคนได้เห็น”
บีบีซีไทยรวบรวมภาพของนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทยที่คว้าเหรียญรางวัลมาได้จากพาราลิมปิก 2020 ที่โตเกียว
5 เหรียญทอง
5 เหรียญเงิน
8 เหรียญทองแดง