สำหรับสายพันธุ์โควิดหลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้คือสายพันธุ์เดลต้าเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดในประเทศอินเดีย ก่อนแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก โดยไทยพบการระบาดในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จากแคมป์คนงานหลักสี่ก่อนจะขยายไปพื้นที่อื่น ๆ กระจายไปทั่วประเทศ ต่อมาเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดพบการรายงานครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เรียกว่า ‘โอไมครอน’ เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และเริ่มเป็นสายพันธุ์ที่ถูกจับตาจากทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นในสังคมไทยมากมาย อันมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นกระแสหลักของคนในสังคม ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หลายเรื่องเป็นเรื่องราวของบุคคล ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ต่อสาธารณะ บางเรื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคม เป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึก มากกว่าใช้เหตุผลในการรับรู้รับทราบข้อมูล จนกลายเป็นเรื่อง ‘ดราม่า’ ที่ได้รับความสนใจจากคนในสังคมเป็นอย่างมาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประมวลรวบรวม 10 ข่าวเด่นในรอบปี 2564 ที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวมานำเสนอดังต่อไปนี้
1.โควิดยังระบาดต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ต้นปี 2564 การระบาดของเชื้อโควิดมีหลายกรณีให้ต้องจับตา โดยเฉพาะกรณีดีเจมะตูม หรือ นายเตชินท์ พลอยเพชร ดีเจพิธีกร ที่ระบุว่าตนเองติดโควิด และแจ้งเตือนให้บุคคลที่สัมผัสเสี่ยงระหว่างวันที่ 7 ม.ค. – 20 ม.ค.2564 เข้ารับการตรวจหาเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดีในวันเกิด วันที่ 9 ม.ค. ที่ชั้นดาดฟ้า โรงแรมชื่อดังย่านสาทร
ภาพรวมกรณีนี้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 113 ราย และเสี่ยงต่ำ 53 ราย มีทั้งชื่อบุคคลดัง ดารา ศิลปิน แต่สิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ การจัดงานรวมกลุ่มที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดของโควิด ในช่วงที่รัฐยังใช้มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อคุมเข้มโควิด
อีกหนึ่งคลัสเตอร์ในปี 2564 ที่ถูกติดตามกันมาต่อเนื่อง คือ กรณีคลัสเตอร์กรมราชทัณฑ์ หลังปรากฏข้อมูลว่า เรือนจำหลายแห่งเริ่มพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน กรมราชทัณฑ์ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 26 ต.ค.2564 พบว่า มีผู้ติดเชื้อสะสม 72,743 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 165 ราย
สำหรับสายพันธุ์โควิดหลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้คือสายพันธุ์เดลต้าเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดในประเทศอินเดีย ก่อนแพร่ระบาดไปหลายประเทศทั่วโลก โดยไทยพบการระบาดในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาจากแคมป์คนงานหลักสี่ก่อนจะขยายไปพื้นที่อื่น ๆ กระจายไปทั่วประเทศ ต่อมาเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิดพบการรายงานครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เรียกว่า ‘โอไมครอน’ เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา และเริ่มเป็นสายพันธุ์ที่ถูกจับตาจากทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
2.กล่องสุ่ม ‘พิมรี่พาย’
กรณี พิมรี่พาย หรือ น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ จัดแคมเปญขายกล่องสุ่มสินค้า มูลค่ากล่องละ 100,000 บาท ผ่านทางเฟซบุ๊ก พิมรี่ฟายขายทุกอย่าง ปรากฎการณ์ดังกล่าวสร้างยอดขาย 100 ล่านบาทจากการขายในเวลาเพียง 10 นาที
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากกรณีนี้ก็คือ มีผู้ซื้อบางคนได้แชร์ประสบการณ์การซื้อกล่องสุ่มที่ได้รับสินค้าในมูลค่าสูง เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมถึงทองคำ ฯลฯ จนทำให้สังคมออนไลน์หันมาสนใจเรื่องดังกล่าวกันอย่างคึกคัก
กระทั่ง ‘พิมรี่พาย’ จัดแคมเปญทำกล่องสุ่ม ราคา 10,000 บาท ที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน แต่นอกจากจะได้รับความสนใจในทางบวกแล้ว อีกทางหนึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีที่พบว่าสินค้าในกล่องสุ่ม เป็นของหมดอายุ , ไม่มีฉลาก ฯลฯ
ทำให้ช่วงเช้าวันที่ 25 ธ.ค.64 เฟซฐุ๊กพิมรี่พายของทุกอย่าง โพสต์ข้อความระบุว่า ตอนนี้ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหาสินค้าตกค้าง และกำลังแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน รื้อระบบใหม่ ทำให้ดีกว่าเดิม และกราบขออภัยในปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้และจะพักการไลฟ์สดจนกว่าจะหาระบบการจัดการให้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มก็เตรียมที่จะแจ้งความเอาผิดด้วยเช่นกัน
3.‘พระมหาไพรวัลย์-พระมหาสมปอง’
กรณี พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระลูกวัดสร้องทอง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ไลฟ์สดเฟซบุ๊ก โดยมีลีลา การพูด การใช้ภาษาที่ตลก ทำให้เหล่าผู้คนชื่นชอบ และติดตามเป็นจำนวนมาก บางครั้งมีผู้รับชมพร้อมกันมากกว่า 200,000 คน
อย่างไรก็ตามหลายเหตุการณ์ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติตัวของพระสงฆ์ 2 รูป เช่น สนุกสนานจนเกินพอดี ไม่เคารพพระชั้นผู้ใหญ่
ปัจจุบัน พระสงฆ์ทั้ง 2 รูปได้ออกมาประกาศว่าจะสึก ในส่วนของพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เผยเหตุผลในการสึกว่า รู้สึกเบื่อหน่ายกับวงการสงฆ์ และความไม่เป็นธรรมกับพระผู้น้อย ขณะที่พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ให้เหตุผลในการสึกว่าจะออกมาดูแลแม่และเพราะมองเห็นความไม่เป็นธรรมในวงการสงฆ์
4.‘ผู้กำกับโจ้’ ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา
กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปบนโลกออนไลน์ ที่ปรากฏให้เห็นพฤติการณ์ของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมลูกน้อง นำถุงดำมาคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติด พร้อมเรียกเงิน 2,000,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่เกิดพลาดพลั้งทำให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต ต่อมามีคำสั่งให้ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ออกจากราชการ และศาลจังหวัดนครสวรรค์ออกหมายจับ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ พร้อมพวก 7 ราย ในข้อหาเกี่ยวกับการทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการหาข้อมูล ย้อนดูพฤติกรรมของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ กระทั่งไปพบว่า เขาครอบครองรถหรูเกือบ 30 คัน และยังมีประวัติการทำงานในการตรวจยึดรถหรูมากถึง 400 คันซึ่งสร้างรายได้ให้กับเขาจำนวนมากจากเงินรางวัลนำจับ และเป็นอีกประเด็นที่กำลังถูกตรวจสอบในเวลานี้
5. ‘ลิซ่า’ BLACKPINK ปล่อยมิวสิควิดีโอผสมผสานความเป็นไทย
กรณี น.ส.ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า ศิลปินวง BLACKPINK ปล่อยมิวสิควิดีโอ เพลง LALISA ซึ่งเป็นการปล่อย พร้อมกันทั่วโลก เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนคลับ โดยเฉพาะคนไทยที่ชื่นชอบศิลปินสาว สัญชาติไทย ‘ลิซ่า’ ใส่ชุดไทย ห่มสไบในเพลงดังกล่าว
ขณะ วายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ค่ายเพลงต้นสังกัด เปิดเผยว่า หลังปล่อยมิวสิควิดีโอดังกล่าว ทำให้มียอดการสั่งจองล่วงหน้าของอัลบั้มเกิน 800,000 ก๊อปปี้ ซึ่งถือเป็นศิลปินเดี่ยวหญิงในวงการเคป๊อป ที่มีสถิติสูงที่สุดเท่าที่มีมา
กระแสเพลงดังกล่าว ได้รับการตอบสนองจากคนไทยจำนวนมาก อาทิ การแต่งตัวชุดไทยในชีวิตประจำวัน รวมถึง การตามหาร้านลูกชิ้นยืนกินที่ จ.บุรีรัมย์ แค่เพียงเพราะว่า ‘ลิซ่า’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เป็นร้านลูกชิ้นที่เธอชอบรับประทาน
6.แบดมินตันผสมคู่แรกของไทยได้แชมป์โลก แต่ธงชาติไม่ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา
กรณี นายเดชาพล พัววรานุเคราะห์ หรือ บาส และ น.ส.ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย หรือ ปอป้อ แบดมินตันคู่ผสมคว้าเหรียญทอง ในศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลกเวิลด์ แชมเปียนชิพส์ 2021 ที่ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2564 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากช่วงพิธีรับเหรียญไม่มีการเชิญธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา
สาเหตุมากจากองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) ไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันแล้วว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 64 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พ.ศ. 2564 แล้ว และมีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.64 เป็นต้นไป และมอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเร่งประสานไปยัง WADA เพื่อชี้แจ้งว่าประเทศไทยได้แก้ไขปัญหาข้อกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อให้ WADA ได้ปลดล็อกมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินลงโทษกับประเทศไทย
7.กบฎโหวตล้มนายกฯกลางศึกซักฟอก 2564
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลปี 2564 มีความเคลื่อนไหที่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน คือ กรณีที่มีกระแสข่าวจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพื่อโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีการพาดพิงถึงชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และช่วงเวลาดังกล่าวก็ทำให้สังคมจับตามองทั้งความเคลื่อนไหวในสภา-นอกสภา ที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตามหลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่อมาวันที่ 9 ก.ย.2564 ราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศให้ ร.อ.ธรรมนัส และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังสร้างรอยร้าวภายในพรรคพลังประชารัฐกับ พล.อ.ประยุทธ์ มาจนถึงปัจจุบัน
8.เงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว
จากกรณีที่มี ‘แก๊งดูดเงิน’ ระบาดหนักในไทย ทำให้มีผู้เสียหายถูกตัดเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือที่เรียกว่าเงินหายจากบัญชีโดยไม่รู้ตัวเป็นจำนานมาก โดยส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ในต่างประเทศ และเป็นธุรกรรมวงเงินขนาดเล็กเฉลี่ย 1 ดอลลาร์ และไม่ต้องใช่รหัสยืนยันหรือ OTP ซึ่งจากการตรวจสอบ พบมีบัตรใช้งานผิดปกติ 10,700 ใบ มูลค่าความเสียหายกว่ารวม 130 ล้านบาท เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยว่าเกิดจากการถูกแฮกระบบบัญชีธนาคารหรือไม่
ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายืนยันว่าไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากระบบธนาคาร แต่เป็นการที่มิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอย โดยหลังจากนี้ธนาคารจะเป็นผู้ชดใช้เงินคืนให้ผู้เสียหาย
9.ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย จบ’ ก่อนบริษัทถูกสั่งปิด
กรณีกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของ บริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีผลสืบเนื่องจากเกิดจากช่วงปี 2563 มีการระบาดของโควิด บริษัทจึงเริ่มขายประกันภัยคุ้มครองโควิดแบบที่เรียกว่า ‘เจอ จ่าย จบ’
จนกระทั้งช่วงปี 2564 มีการติดเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้อัตราการเคลมประกันสูงขึ้นมหาศาล บางเดือนมีอัตราการเคลมอยู่ที่ 199% และมียอดเคลมมากกว่า 2,000 ล้านบาทในเดือนตุลาคม ทางบริษัทได้นัดจ่ายสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันกว่า 200 ราย และแจ้งว่าจะนำเงินกู้เข้ามาจ่ายเคลมกว่า 300 ล้านบาท แต่สุดท้ายไม่มีการดำเนินการ ทำให้ถูกประชาชนร้องเรียนเป็นจำนวนมาก
ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงออกประกาศคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันภัยชั่วคราว และ ให้แก้ไขฐานะการเงิน รวมถึงชดใช้ค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกัน แต่เมื่อพิจารณาแล้วสรุปได้ว่า บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน มีเงินกองทุนไม่เพียงพอ และไม่มีการเพิ่มทุน รวมถึงประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหมทดแทน จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และ ดำเนินการชำระบัญชีดูแลผู้เอาประกันภัยต่อไป
10.ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ
กรณี ไฟไหม้โรงงาน หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด โรงงานผลิตโฟม และเมล็ดพลาสติก ที่ด้านในมีวัตถุไวไฟ สารเคมีอันตรายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ไฟไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว และเกิดแรงระเบิดอย่างรุนแรง ต้องใช้เวลานานกว่าจะควบคุมเพลิงไว้ได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้พบผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 40 ราย บ้านเรือนเสียหาย 100 หลัง มีผู้อพยพ 1,992 คน มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยอีกว่าที่ตั้งโรงงานแห่งนี้ อยู่ในพื้นที่สีแดงของผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับอาคารพาณิชย์และแหล่งชุมชน โรงงานขนาดใหญ่แบบนี้มาตั้งได้อย่างไร
********
จากข้อมูลข่าวทั้ง 10 เรื่องที่นำเสนอไป จะเห็นได้ว่าข่าวดราม่าเป็นเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจของผู้ชมผู้อ่านข่าวจำนวนมาก ขณะที่สัดส่วนข่าวสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสาธารณชน มีจำนวนน้อยกว่ามากสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นอย่างชัดเจน ผ่านการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น “กระจก” ส่องสะท้อนสังคมมาทุกยุคทุกสมัย