แต่ในความจริง ทฤษฎี ความเชื่อแบบนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นกับสองนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่อย่างน้อย 2 คน คือ “ลี ช่อง เหว่ย” และ “จิมมี่ ไวท์”
“ลี ชอง เหว่ย” หรือ “เทพลี” คือนักแบดมินตันชาวมาเลเซีย ชายเดี่ยวที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ เคยขึ้นไปถึงมืออันดับ 1 ของโลก
อีกทั้งเป็นมืออันดับ 1 ของโลกที่ยาวนานที่สุดถึง 199 สัปดาห์ ติดต่อกัน หรือ 4 ปี อันเป็นสถิติโลกจนถึงปัจจุบัน
การแข่งขันในทัวร์นาเม้นท์ของ สหพันธ์แบดมินตันโลก หรือ บีดับบลิวเอฟ ในช่วงปี 2006-2016 ทศวรรษในสังเวียนลูกขนไก่มักจะมีชื่อ “ลี ชอง เหว่ย” ติดอยู่ 1 ใน 4 และขึ้นแท่นรับรางวัลเป็นว่าเล่น แต่เมื่อถึงการแข่งขันรายการสำคัญ โดยเฉพาะรายการชิงแชมป์โลก และ โอลิมปิก แทบไม่น่าเชื่อว่า “ลี ชอง เหว่ย” ไม่เคยได้ยืนในจุดสูงสุด
ผ่านเข้าชิงแชมป์โลก 3 สมัยซ้อน และ เข้าชิงฯ โอลิมปิค 3 สมัยซ้อน แต่จาก 6 ครั้งที่เข้าชิงฯ เขาแพ้ในนัดชิงฯ ทั้งหมด กลายเป็นรองแชมป์ทั้ง 6 ครั้ง
ลี ชอง เหว่ย เข้าชิงโอลิมปิกครั้งแรก ในปักกิ่งปี 2008 ในฐานะเป็นมือ 1 ของโลก โดยมี คู่ปรับและเพื่อนรัก “หลิน ตัน” นักแบดมินตันยิ่งใหญ่ร่วมยุคของจีนถือเป็นคู่แข่งสำคัญ และเป็น “หลินตัน” ที่เล่นต่อหน้ากองเชียร์เจ้าภาพ เอาชนะคว้าเหรียญทองไปครอง
มาโอลิมปิกครั้งที่สอง ในลอนดอนปี 2012 “ลี ชอง เหว่ย” ขยับใกล้ความสำเร็จอีกหน โดยผ่านเข้าชิงชนะเลิศสำเร็จ เหมือนฟ้าแกล้งคู่ชิงยังเป็นคนเดิมคือ “หลิน ตัน” ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง “ลี ชอง เหว่ย” พ่ายอีกหนอย่างสูสี 1-2 เกม โดยเกมตัดสินพ่ายหวุดหวิด 19-21 ทำได้เพียงแค่เหรียญเงินทั้งสองครั้ง
กระทั่งในโอลิมปิค ครั้งล่าสุด “ริโอ เกมส์ 2016” ถือเป็นหนสุดท้ายของ “ลี ชอง เหว่ย” คราวนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะเป็นใจ “ลี ชอง เหว่ย” โคจรมาพบ ” หลิน ตัน” ในรอบรองชนะเลิศ และถือเป็นการปลดล็อกสำเร็จ “ลี ชอง เหว่ย” ล้างอาถรรพ์ชนะ “หลิน ตัน” ในรายการโอลิมปิกได้สำเร็จหลังต่อสู้กันอย่างหนักถึง 3 เกม โดยเกมตัดสินชนะด้วยคะแนนดิวส์ 22-20
ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ “เฉิน หลง” นักแบดมินตันมือดีของจีนที่กำลังมาแรงจนขึ้นมือ 1 ของโลกในเวลานั้น
ความหวังสุดท้ายในโอลิมปิกด้วยวัย 33 นอกเหนือจากความมุ่งมั่นของ “ลี ชอง เหว่ย” ยังมีกำลังใจจากแฟนแบดมินตันทั่วโลกที่อยากเห็น “เทพลี” อยู่ในจุดสูงสุด รวมถึงชาวมาเลเซีย ที่อยากมีเหรียญทองมาประดับชาติ
แต่ที่สุดความผิดหวังเกิดเป็นคำรบสาม “ลี ชอง เหว่ย” ผ่านเกมหนักกับ “หลิน ตัน” มาในรอบรองชนะเลิศ ทำให้ร่างกายขาดความสดรวมถึงอายุที่มากขึ้น จึงพ่ายให้กับ “เฉิน หลง” คลื่นลูกใหม่ที่มาแรงแบบสูสี 18-21 และ 18-21 จึงดีที่สุดแค่เหรียญเงินอีกครั้ง และเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน
ภาพติดตาและบาดใจของแฟนแบดมินตัวทั่วโลก คือ หลังจบการแข่งขันในพิธีรับเหรียญ “ลี ชอง เหว่ย” ยกมือขึ้นปาดน้ำตา คงไม่มีใครคิดว่าเป็นความดีใจที่ได้เหรียญเงิน แต่ที่จริงคือความผิดหวังที่ไม่สามารถทำเหรียญทองให้กับตัวเองและประเทศชาติ
อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จศึก โอลิมปิก “ลี ชอง เหว่ย” ยังคงทำการแข่งขันในรายการสำคัญ กระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2018 “ลี ชอง เหว่ย” ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งโพรงจมูก ระยะที่ 3
ความหวังโอลิมปิกสุดท้ายในเอเชีย “โตเกียว 2020” แทบสลาย แต่ “เทพลี” ยังสู้ใช้เวลาตลอดปีรักษาตัวอยู่ที่ไต้หวันจนสามารถรักษาได้อย่างหายขาด
แต่หมอที่ทำการรักษาแนะนำ “ลี ชอง เหว่ย” ให้เลิกเล่นแบดมินตันเนื่องจากหากยังแข่งขันต่อไปและการใช้กำลังอย่างหนักหน่วง โรคร้ายอาจจะกลับมาอีก
แม้ใจยังอยากไปต่อด้วยความผูกพันธ์กับกีฬาลูกขนไก่เกือบ 20 ปี แต่ด้วยครอบครัวทั้งภรรยาและลูก ทำให้ “ลี ชอง เหว่ย” ตัดสินใจประกาศแขวนแร็กเก็ต แถลงทั้งน้ำตาเมื่อ 13 มิ.ย.62 เลิกเล่นแบดมินตันอย่างเป็นทางการ ในวัย 36
ทิ้งตำนานเป็นนักแบดคนเดียวของมาเลเซียที่ครองตำแหน่งมือ 1 ของโลกได้มากกว่า 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2008 ยาวนานต่อเนื่องถึง 199 สัปดาห์ พ่วงด้วยรางวัลผู้เล่นแห่งปีของสหพันธ์แบดมินตันนานาชาติ 4 สมัย
แม้ไม่เคยเป็นแชมป์โลก และแชมป์โอลิมปิก แต่ภาพรวมของผลงานก็น้อยคนที่จะทำได้ ทั้งการคว้า 3 เหรียญเงินโอลิมปิก, แชมป์เอเชียปี 2006, 3 เหรียญเงิน กับ 1 เหรียญทองแดงในศึกชิงแชมป์โลก, 4 เหรียญทอง คอมมอนเวลธ์ เกมส์, 1 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงินซีเกมส์
มาถึงอีกหนึ่งที่โลกยอมรับว่ายอดเยี่ยม ใกล้ถึงเป้าหมายแต่ไม่บรรลุผลสำเร็จนั่นคือ “จิมมี่ ไวท์” หาก “ลี ชอง เหว่ย” คือราชาไร้บัลลังก์ในกีฬาแบดมินตัน เมื่อพูดถึงสนุกเกอร์ ต้องยกให้เขาคนนี้
“สิงห์อีซ้าย” จิมมี่ ไวท์ เป็นที่รู้จักมักคุ้นของแฟนสนุกเกอร์ไทย เพราะเก่งกาจอยู่ในยุคของ “ไทย ทอร์นาโด” เจมส์ วัฒนา หรือ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” เมื่อราว 30 ปีก่อน
ชื่อเสียงและลีลาการแทงที่รวดเร็ว โดยเล็งมองเหลี่ยมแค่ครั้งเดียว แล้วปล่อยคิวกระทบลูกขาวส่งสีลงหลุมอย่างแม่นยำ สร้างความตื่นตาให้กับผู้ชม จนเป็นที่รักและนิยมในตัวของ “สิงห์อีซ้าย” ไม่น้อยไปกว่าใคร
ผลงานในการเข้ารอบและคว้ารางวัลสำคัญถึง 23 รายการ โดยเฉพาะแชมป์ ยูเคแชมเปี้ยนชิพ 1992 และ เดอะมาสเตอร์ส 1984 ทำให้ “จิมมี่ ไวท์” ก้าวถึงมือ 2 ของโลกในช่วงเวลาที่ยาวนาน เป็นรองแค่ “สตีเฟ่น เฮนดรี้”เพชรฆาตไร้เทียมทานในเวลานั้น
ความร้อนแรงของ “จิมมี่ ไวท์” ยามใดที่เดินเครื่องแทบไม่มีใครจะหยุดเขาได้ “สิงห์อีซ้าย” ทะลุถึงรอบชิงชนะเลิศสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกถึง 6 ครั้ง
โดยเฉพาะระหว่างปี 1990-1994 “จิมมี่ ไวท์” เข้าชิงรายการสนุกเกอร์ที่ย่งใหญ่ที่สุดของโลกถึง 5 ครั้งติดต่อกัน แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า ทุกครั้งที่ชิง “สิงห์อีซ้าย” แม้ว่าจะฟอร์มดีเพียงใดก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
ในจำนวน 6 ครั้งที่เข้าชิงชนะเลิศ “ไวท์” เสียท่าให้กับ “มัจจุราชผมทอง”สตีเฟ่น เฮนดรี้ ตำนานสอยคิวชาวสกอตถึง 4 ครั้ง ในปี 1990, 1992, 1993 และ 1994 กลายเป็นส่วนหนึ่งของตำนานที่ทำให้ สตีเฟ่น เฮนดรี้” เป็นแชมป์โลกมากที่สุดถึง 7 สมัย ที่ยังไม่มีใครทำได้
ส่วนอีก 2 ครั้งพ่ายให้กับ “เทพบุตรคิวทอง” สตีฟ เดวิส อีกครั้งกับ “ไอ้นกแก้ว” จอห์น แพร็อต ยอดฝีมือร่วมยุค
ความเจ็บปวดในฐานะรองแชมป์โลกที่ตราตรึงและน่าเสียดายที่สุดเกิดขึ้นในการชิงแชมป์โลกปี 1994 เมื่อ จิมมี่ ไวท์ พ่าย สตีเฟ่น เฮนดรี้ ในเฟรมตัดสิน 17-18 เฟรม
โดยในเฟรมตัดสิน โอกาศอยู่แค่เอื้อม เมื่อ “ไวท์” ทำแต้มขึ้นนำ สีอยู่ที่จุดแดงกระจาย และเหลือเพียง 5 ลูก “สิงห์อีซ้าย” อาจจะเกร็งและไม่ละอียด หรือมองข้ามชอตมากไปทำให้เช็ดดำพลาด
เปิดโอกาสให้ “มัจจุราชผมทอง” สอยคิวอย่างอำมหิตเก็บแดง กินสีและกวาดหมดโต๊ะแซงเข้าป้าย สร้างรอยแผลให้ “จิมมี่ ไวท์”อีกคำรบ
หลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยเข้าชิงศึกชิงแชมป์โลกอีกเลย เนื่องจากอายุเริ่มมากขึ้น และได้เข้าสู่ช่วงขาลง ที่สำคัญยังมีนักสอยคิวรุ่นใหม่ขึ้นมาไล่คลื่นลูกเก่าให้ถดถอยลง ไม่ว่าจะเป็น จอห์น ฮิกกิ้นส์, มาร์ก วอลเลี่ยม และ รอนนี่ โอซุลลิเวน
เหลือเพียงตำนาน ราชาไร้บัลลังก์ ผู้เข้าชิงแชมป์โลก 6 ครั้ง ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับ “ลี ชอง เหว่ย” ที่อกหักรวม 6 ครั้งจากโอลิมปิกและชิงแชมป์โลก
เผยแพร่: 2 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.