ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตัน รายการระดับ “เวิลด์ ทัวร์ ซูเปอร์ 1000” 2 รายการใหญ่ ที่จะระเบิดศึกรายการแรกในวันที่ 12 มกราคมนี้ รวมถึง BWF เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล
นับเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก ทัวร์นาเมนต์แรกในประเทศไทย หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลก สำหรับการแข่งขันแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ ประกอบด้วย ” ไทยแลนด์ โยเนกซ์ โอเพ่น” ระดับ”เวิลด์ ทัวร์ ซูเปอร์ 1000″ ระหว่างวันที่ 12-17 มกราคม ต่อด้วย “โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น” ระหว่างวันที่ 19-24 มกราคม และ “BWF เวิลด์ทัวร์ ไฟนอล” ระหว่างวันที่ 27-31 มกราคม นี้
แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะไม่สู้ดีนัก เช่นเดียวกับสถานการณ์ทั่วโลก แต่ความตั้งใจของฝ่ายจัดการแข่งขัน คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักกีฬาทั่วโลก ว่าการจัดการแข่งขันกีฬา สามารถทำได้ ภายใต้นโยบายความปลอดภัยสูงสุด รวมถึงแฟนชาวไทยเอง สามารถเชื่อมั่นถึงความปลอดภัยในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ด้วยระบบ “บับเบิล ควอแรนทีน”
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย และรองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐสปอร์ตว่า ทางสมาพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) ได้วางแผนจัดการแข่งขันอย่างรัดกุม เป็นเวลานาน 4 เดือน และต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในการดำเนินการ หากแต่สามารถที่จะผลักดันให้นโยบายความปลอดภัยเกิดขึ้นได้จริง
นโยบายสำคัญของการจัดการแข่งขัน นับว่าเป็นไปอย่างรัดกุม โดยมีนโยบายที่สำคัญดังนี้
– นักกีฬาทุกคน ไม่สามารถออกจากโรงแรมที่พักได้ เมื่อเข้าพักในสถานที่ที่จัดไว้ให้ จะไม่อนุญาตให้ออกนอกโรงแรม (นอกจากการฝึกซ้อม)
– บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้ามาในบับเบิลได้
– นักกีฬาต้องตรวจเชื้อสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น ตรวจเชื้อจำนวน 8 ครั้ง
– ทุกคนต้องรับประทานอาหารกล่องคนเดียวในห้องพักเดี่ยว
– ไม่อนุญาตนักกีฬาระหว่างประเทศพบปะกัน นอกจากลงแข่งขัน
– ลดสนามแข่งขันเหลือ 3 สนาม และเพิ่มระยะห่างระหว่างสนาม
– การขึ้นรถรับส่ง จะต้องนั่งตามที่นั่งที่กำหนด และไม่มีการปะปนนักกีฬาจากชาติอื่นๆ
– การรับส่งลูกขนไก่ จะดำเนินการผ่านเครื่องส่งลูกเท่านั้น ไม่มีการสัมผัสมือ
นอกจากนี้ นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันไทย ยังเปิดเผยด้วยว่า การจัดการแข่งขันแบดมินตัน ทั้ง 3 รายการ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมกราคมนี้ ถือเป็นการสร้างมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาในยุคนิวนอร์มอล เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า ระดับความปลอดภัยของการแข่งขันอยู่ในระดับที่เข้มงวด และปัจจุบัน ยังไม่มีนักกีฬาที่เข้า “บับเบิล ควอแรนทีน” และติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจเชื้อทั้งสองรอบ
อีกทั้งปัจจุบัน การแข่งขันกีฬาในประเทศไทยต้องหยุดชะงัก ดังนั้น หากการจัดการแข่งขันแบดมินตันทั้งสามรายการ สามารถดำเนินการได้อย่างลุล่วง จะเป็นต้นแบบสำคัญของกีฬาชนิดอื่นๆ ตามมา
“มั่นใจว่า มาตรการการจัดการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญที่จะทำให้กีฬาชนิดอื่นๆ สามารถนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติ และประเทศไทย สามารถเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก ในยุคนิวนอร์มอลได้อย่างแน่นอน”
ร่วมติดตามการจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลก ที่จะเกิดขึ้นทั้งสามรายการในเดือนมกราคม 2564 และร่วมลุ้นร่วมเชียร์นักกีฬาไทย ให้สร้างผลงานผงาดบนเวทีโลกไปพร้อมกัน