“แอนเดอร์ส โบเซ่น” : อดีตนักแบดบินตันมือ 3 โลก สู่แพทย์สนามผู้ช่วยชีวิต “คริสเตียน อีริคเซ่น” – Sanook

เหตุการณ์ที่ คริสเตียน เอริคเซ่น ล้มลงไปกลางสนาม และหัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ เกือบจะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม หากไม่ใช่เพราะความพร้อมด้านการแพทย์ กอปรกับบทเรียนจากความสูญเสียในอดีตที่ผ่านมา

ทีมแพทย์ข้างสนามในเกมนัดนั้น ต่างได้รับคำชมอย่างล้นหลาม จากการกู้ชีวิตมิดฟิลด์วัย 29 ปีรายนี้ได้สำเร็จ และหนึ่งในทีมแพทย์ชุดนั้น คืออดีตนักแบดมินตันอันดับ 3 ของโลก ผู้ผันตัวมาเป็นแพทย์อย่างเต็มตัว

นี่คือเรื่องราวของ แอนเดอร์ส โบเซ่น ผู้แขวนแร็กเกต และหยิบกระเป๋าแพทย์มาช่วยชีวิตผู้คน

เมื่อการศึกษาคือทุกสิ่ง

อาจฟังดูแปลกสำหรับคนไทย ที่นักแบดมินตันระดับโปรอย่าง แอนเดอร์ส โบเซ่น จะอยู่ดี ๆ จะเปลี่ยนอาชีพแบบข้ามฟากมาเป็นหมอ แต่นั่นเป็นเรื่องปกติในระบบการศึกษาของประเทศ เดนมาร์ก ที่พวกเขาจะต้องเรียนหนังสือ ควบคู่ไปกับการฝึกซ้อมกีฬา

1

มาเธียส โบ รุ่นน้องของ แอนเดอร์ส และอดีตมือหนึ่งของโลก ที่ปัจจุบันพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย ให้สัมภาษณ์กับทาง Indian Express เกี่ยวกับเรื่องราวเบื้องหลังของตัวเขา และรุ่นพี่วัย  45 ปี ผู้ผันตัวมาเป็นฮีโร่ในเกมที่ เดนมาร์ก พบกับ ฟินแลนด์

แม้จะไม่เคยคว้าแชมป์ในรายการชายเดี่ยวได้เลย แต่ แอนเดอร์ส โบเซ่น ก็สามารถคว้ารองแชมป์ในการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรป 2 สมัย และคว้ารองแชมป์ IBF เวิลด์กรังด์ปรีซ์ (ปัจจุบัน IBF ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น BWF อย่างที่แฟนแบดมินตันคุ้นเคย) 4 รายการ โดยหนึ่งในนั้นเป็นการพ่ายให้กับ อาร์ดี วีรานาตา เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกชาวอินโดนีเซีย ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดของโลก ณ ตอนนั้น

แอนเดอร์ส ตัดสินใจแขวนแร็กเกตจากการแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี 2004 เพื่อไปโฟกัสกับการศึกษาต่อ ซึ่งนักแบดมินตันส่วนมากจะเลือกเรียนด้านศัลยกรรมกระดูก แต่ แอนเดอร์ส กับพี่ชายของเขาอย่าง มอร์เทน โบเซ่น กลับเลือกศึกษาแพทยศาสตร์โดยตรง

2

เจ้าตัวสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ในปี 2006 และยังคงเกี่ยวข้องกับวงการลูกขนไก่อยู่บ้าง โดย แอนเดอร์ส ที่มักฝึกซ้อมอย่างหนักตั้งแต่เช้ามืด เพื่อให้เข้ากับสไตล์การเล่นในอดีต ที่ทำให้เขาพร้อมจะหวดลูกอย่างเต็มแรงได้ตลอดทั้งเกม โดยไม่มีปัจจัยเรื่องอายุเข้ามาเป็นอุปสรรค

แต่การศึกษาแพทย์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะกับ แอนเดอร์ส ผู้มีความมุ่งมั่นจนพาตัวเองไปถึงมือ 3 ของโลกมาแล้ว ก็ต้องไปให้สุดกับการเป็นหมอด้วยเช่นกัน

ก้าวเข้าสู่วงการแพทย์

แอนเดอร์ส ตัดสินใจศึกษาต่อแบบเฉพาะทาง โดยตัดสินใจเรียนด้านวิทยาการบาดเจ็บ ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในปี 2017 เพื่อสานต่อเส้นทางการเป็นแพทย์ของเขา

ระหว่างที่ศึกษาอยู่ แอนเดอร์ส ก็มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาด้วยเช่นกัน โดยเจ้าตัวได้ศึกษาเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่พบได้ระหว่างการแข่งขัน เพื่อหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับอีกมากกว่า 20 งานวิจัยของตัวเขาเอง

ด้านพี่ชายของเขาอย่าง มอร์เทน ผู้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักกับวงการลูกขนไก่ ได้ตัดสินใจเข้าเป็นแพทย์ประจำสโมสร เอฟซี โคเปนเฮเกน ยอดทีมจากเมืองหลวงของแดนโคนม ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา ก่อนจะได้รับอนุญาตจากสโมสรต้นสังกัด ให้เข้ามาเป็นแพทย์ประจำทีมชาติเมื่อมีโปรแกรมลงเตะ ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา

3

หลังจบการศึกษาหลักสูตรเพิ่มเติม แอนเดอร์ส ก็ได้ตามรอยพี่ชายของเขา โดยเข้ามาเป็นทีมแพทย์ประจำในทีมอคาเดมีของ เอฟซี โคเปนเฮเกน และในเวลาเดียวกันนั้น เจ้าตัวก็ได้รับการฝึกจาก ยูฟ่า เพื่อให้พร้อมเป็นแพทย์ฉุกเฉินข้างสนาม ผู้สามารถเข้าช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันได้

จุดเริ่มต้นของการมีแพทย์ประจำข้างสนามนั้น มาบทเรียนจากกรณีการสูญเสีย มาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ ดาวเตะทีมชาติ แคเมอรูน ผู้เสียชีวิตหลังหัวใจหยุดเต้นแบบฉับพลันกลางสนาม ระหว่างลงเล่นศึก ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 2003 จนทำให้ฟีฟ่าต้องยกระดับมาตรการด้านการแพทย์ขึ้นใหม่หมด และทำให้ในแทบทุกแมตช์การแข่งขันหลังจากนั้น จำเป็นต้องมีทีมแพทย์ฉุกเฉินประจำการอยู่ข้างสนาม พร้อมกับรถพยาบาลที่จอดเตรียมพร้อมอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบเกม

มาตรการดังกล่าวถูกพิสูจน์มาแล้วครั้งหนึ่ง กับการรักษาชีวิตของ ฟาบริซ มูอัมบ้า กองกลางของ โบลตัน วันเดอร์เรอร์ส ที่เกิดหัวใจหยุดเต้นระหว่างลงเตะ เอฟเอ คัพ กับ สเปอร์ส ในปี 2012 และ หยุดหายใจไปนานถึง 78 นาที ก่อนที่ทีมแพทย์จะสามารถกู้ชีพของเขากลับมาได้อีกครั้ง

แต่ภาพคล้ายเหตุการณ์ มูอัมบ้า ถูกฉายซ้ำอีกครั้งในปี 2021 ที่สนาม พาร์เคน ท่ามกลางสายตาของผู้คนทั่วโลกที่รับชมกันแบบสด ๆ และนี่คือส่วนที่การศึกษา เข้ามาช่วยชีวิตของ คริสเตียน เอริคเซ่น เอาไว้ได้

จากตำราสู่ผืนหญ้า

นาทีที่ 42 ของเกม คริสเตียน เอริคเซ่น ค่อย ๆ ลดความเร็วในการวิ่งลง ก่อนจะล้มหน้าคว่ำลงสู่พื้นสนาม โดยไม่มีใครอยู่ใกล้กับเขาเลย

บนม้านั่งสำรอง มอร์เทน โบเซ่น แพทย์ประจำทีมชาติเดนมาร์ก เริ่มสังเกตเห็นความไม่ชอบมาพากล จึงตัดสินใจหยิบอุปกรณ์ฉุกเฉิน วิ่งข้ามฟากเข้าไปถึงตัวของ เอริคเซ่น ภายในเวลาไม่ถึง 25 วินาทีหลังจาก เอริคเซ่น ล้มลง

4

เช่นเดียวกับพี่ชายของเขา แอนเดอร์ส ผู้เป็นแพทย์ฉุกเฉินที่ยูฟ่ามอบหมายให้มาประจำในนัดนี้ ก็ได้วิ่งตามลงไปสมทบในสนามพร้อมกับทีมงานของเขา เพียง 30 วินาทีให้หลัง

แม้ตามหลักแล้ว มอร์เทน จะมีหน้าที่ดูแลอาการบาดเจ็บในสนามต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่กล้ามเนื้อ, กระดูก, ข้อต่อ  หรืออวัยวะใด ๆ ก็ตาม แต่ในตอนนี้ หลักสูตร CPR และการช่วยชีวิตที่ได้เรียนมานั้น ต้องถูกนำมาใช้งานจริงแล้ว

เช่นเดียวกับบรรดานักเตะ นำโดย ซิมน กายาร์ กัปตันทีมชาติ เดนมาร์ก ผู้รุดเข้าไปช่วยเคลียร์พื้นที่ ให้ เอริคเซ่น สามารถหายใจได้สะดวก และป้องกันไม่ให้เจ้าตัวเกิดอาการลิ้นจุกปาก ซึ่งอาจทำให้อาการแย่ลงกว่านี้ได้

ทั้งนี้ต้องขอบคุณระบบการศึกษาของประเทศ เดนมาร์ก ที่บังคับให้เด็กทุกคนต้องทำ CPR เป็น ตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา จน กายาร์ สามารถช่วยให้งานของหมอ มอร์เทน และ แอนเดอร์ส นั้นง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก

ในตอนที่ทีมแพทย์เข้าไปถึงตัว เอริคเซ่น เขายังคงมีลมหายใจอยู่ ก่อนที่ชีพจรของเขาจะค่อย ๆ อ่อนลง และเมื่อหัวใจเกิดหยุดเต้นลงแบบฉับพลัน นั่นจึงทำให้ มอร์เทน ตัดสินใจเริ่มปั๊มหัวใจในทันที พร้อมกับใช้เครื่อง AED มาช็อตกระตุ้นหัวใจให้เขา เพื่อให้สถานการณ์พ้นจากวิกฤติได้โดยเร็ว

เอริคเซ่น ใช้เวลาอยู่บนพื้นสนามเพียงแค่ 13 นาทีเท่านั้น และไม่ถึง 20 นาทีหลังจากหัวใจของเขาหยุดเต้น เจ้าตัวก็ไปถึงห้องฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อย โดยโรงพยาบาล Rigshospitalet นั้นมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉิน ที่พร้อมรองรับได้ถึง 50% ของประชากรทั้งหมดในเมือง โคเปนเฮเกน ที่มีผู้อาศัยอยู่มากกว่า 600,000 คน

5

นี่เป็นอีกครั้ง ที่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ บวกกับการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ สามารถเปลี่ยนจากความสูญเสีย ให้ทุเลาลงเป็นเพียงแค่อาการเจ็บป่วยที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ได้

โดยเฉพาะกับในระบบการศึกษา ที่แม้แต่นักกีฬาระดับโลกอย่าง แอนเดอร์ส โบเซ่น ก็ยังสามารถที่จะศึกษาต่อ ควบคู่ไปกับการลงเล่นแบดมินตันไปพร้อมกันได้ ซึ่งในวันนี้ ความรู้ต่าง ๆ ที่เขาได้ร่ำเรียนมา ได้ย้อนกลับมาช่วยชีวิตเพื่อนร่วมชาติของตนเป็นที่เรียบร้อย

แต่สุดท้ายนี้ ทุกสาขาอาชีพ ทุกแขนงของวิชา ต่างมีความสำคัญไม่ต่างกัน นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเราถึงต้องมีความหลากหลายในสังคม และสิ่งเหล่านี้แหละ ที่กำลังผลักดันให้อารยธรรมของมนุษยชาติ ก้าวต่อไปในทุก ๆ วัน