จากคู่ผสมในตำนาน”ส้ม-เต่า” กว่าจะถึงวันของ “บาส-ปอป้อ” ผู้พิชิต 8 แชมป์ – บทความกีฬาอื่นๆ – SMMSPORT

เป็นความสำเร็จสูงสุด หากวัดถึงผลงานทีมแบดมินตันไทยในเวลานี้ คือแชมป์ลำดับที่ 8 ของการแข่งขันประเภทคู่ผสมจาก “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย

 การคว้าแชมป์ “ไฮโล โอเพ่น 2021” ณ ประเทศเยอรมัน รายการล่าสุด ทำให้อันดับคะแนนของ “บาส-ปอป้อ” ขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก (อีกครั้ง) โดยอันดับหนึ่งยังเป็น “หวง หย่าเฉียง” กับ “ฉาง ซิเหว่ย” คู่จากจีน

 อย่างไรก็ตาม อันดับ 2 ของโลกในประเภทคู่ผสม หาใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนนี้ในยุคของ “นินจาเต่า” สุดเขต ประภากมล กับ “ผู้พันส้ม” สราลีย์ ทุ่งทองคำ ก็เคยอยู่ในจุดนี้มาแล้ว

 ก่อนที่ “สราลีย์ ทุ่งทองคำ” แขวนเร็กเก็ตจากอาการบาดเจ็บ ก่อนผันตัวเป็นโค้ชถ่ายทอดวิชาให้ “รุ่นน้อง” คู่ผสม “บาส-ปอป้อ” ในสำนัก “เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี่” ในเวลาต่อมา

 ตลอดช่วงเวลานับสิบปี “ส้ม” สราลีย์ ทุ่งทองคำ กับ “เต่า” สุดเขต ประภากมล ถือเป็นคู่ผสมมือ 1 ของไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ การันตีผลงานคือการเป็นแชมป์เอเชีย 2005 ซึ่งนับว่าไม่แตกต่างจากการเป็นแชมป์โลก เมื่อวัดจากยอดฝีมือที่ลงทำการแข่งขัน

 เป็นคู่ผสมแชมป์ซีเกมส์ 2 สมัย รวมถึงผ่านศึกโอลิมปิก 4 สมัยซ้อน นับจากปี 2000-2012

 ในโอลิมปิกเกมส์ 2012 “ลอนดอน เกมส์” คู่ผสมไทย “ส้ม-เต่า” เข้าถึง 8 คู่สุดท้าย ก่อนไปพ่าย โจอาคิม พิคเจอร์ กับ คริสติน่า พีเดอร์เซ่น จากเดนมาร์ก คู่ผสมมือ 3 ของโลก 0-2 เกม 

 จนมาถึง โอลิมปิก 2016 “ริโอ เกมส์” คู่ของ “สราลีย์ ทุ่งทองคำ-สุดเขต ประภากมล” ยังเป็นคู่ความหวัง แม้อยู่ในช่วงปลายอาชีพนักกีฬา โดย สรารีย์ เวลานั้นอายุ 37 ปี โดยที่ สุดเขต อายุ 36

 แต่เหมือนโชคไม่เข้าข้าง “ส้ม-สรารีย์” ได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าซ้ายระหว่างการลงเล่นรอบ 2 แบดมินตันระดับกรังด์ปรีซ์โกลด์ รายการปริ๊นเซส สิริวัณณวรี ไทยแลนด์ มาสเตอร์ 2016 ที่อาคารนิมิบุตร ในการพบกับคู่จากสิงคโปร์

 ผลจากการบาดเจ็บครั้งนั้น แพทย์ตรวจอาการพบว่าเอ็นเข่าด้านข้างขาด และหมอนรองกระดูกใต้สะบ้ามีรอยฉีก ต้องพักนาน 4-6 เดือน หมดหวังเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก 2016 พร้อมแขวนเร็ตเกตปิดตำนานขนไก่คู่ผสม “สุดเขต-สราลีย์” ไปโดยปริยาย

 โดยใน “ริโอ เกมส์ 2016” คู่ผสม ของไทยที่เข้าร่วมคือ บดินทร์ อิสระ และ สาวิตรี อมิตรพ่าย แต่ผลงานไม่เป็นไปตามคาด แพ้สองนัดแรกในรอบแบ่งกลุ่ม ตกรอบไปก่อนใคร ก่อนที่ทั้งคู่จะถอนตัวออกจากสมาคมฯ ในเวลาต่อมา

 กระทั่งการแจ้งเกิดคู่ผสมคู่ใหม่ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สองนักแบดมินตันจากโครงการ  “เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี่” สำนักผลิตนักแบดมินตันระดับต้นของโลก

 ที่สำคัญคือจากโค้ชจากอดีตนักกีฬาแบดมินตันจากประเภทคู่มาสานความสำเร็จ นั่นคือ โค้ชโอม–เทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอน และสานต่อจาก “โค้ชส้ม-สราลีย์ ทุ่งทองคำ” ที่ผันตัวจากผู้เล่นมาเป็นโค้ชเต็มตัว

 แต่เดิม “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ เด็กหนุ่มจากชลบุรี เริ่มฝึกหัดตีลูกขนไก่จาก “ศรีราชาสปอร์ตคลับ” เข้าร่วมชายคา “เอสซีจี” ตั้งแต่อายุ 14 ด้วยรูปร่างเล็กมีความคล่องจึงไปจับคู่ “สกาย-กิตตินุพงษ์ เกตุเรน” ลงทำการแข่งขันประเภทชายคู่

 และถือว่าผลงานไม่ธรรมดา เมื่อสามารถคว้าแชมป์ชายคู่ในการแข่งขันแบดมินตันเยาวชนโลกมาครองในปี 2014

 ในขณะที่ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย อยู่ใน “เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี่” ตั้งแต่อายุ 15 ปี ลุยเล่นในประเภทหญิงเดี่ยว

 แบดมินตันหญิงเดี่ยวของ “ปอป้อ” ก็ไม่ธรรมดา เมื่อก้าวไกลไปถึงการคว้าเหรียญทองใน “ยูธ โอลิมปิกเกมส์ 2010” ประเทศสิงคโปร์

 กระทั่งปี 2015 หรือ พ.ศ.2558 ตำนาน “บาส-ปอป้อ” ก็เริ่มขึ้น

 

 สต๊าฟโค้ชใน “เอสซีจี” จับมือดัน “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย  แท็กทีมกันเป็นคู่ผสมหน้าใหม่ ลงชิมลางประเดิมแข่งรายการแรกในศึกชิงแชมป์ประเทศไทย (SCG All Thailand Badminton Championships 2015) 

 ผลงานในทัวร์นาเม้นท์แรก ทั้งคู่ทำงานสอดประสานในการรับรุกได้ดี ก่อนตระเวณแข่งขันหาประสบการณ์ในรายการต่างประเทศ

 กระทั่งถึงจุดแจ้งเกิดสำคัญ ในซีเกมส์ 2017 หรือ พ.ศ.2560 ที่ประเทศมาเลเซีย หลังร่วมทีมกันได้แค่ปีเศษ “บาส” เดชาพล ควงคู่ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี คว้าเหรียญทองในการแข่งขันประเภทคู่ผสม

 ไม่เพียงเท่านี้ ปีเดียวกัน ทั้งคู่ยังคว้าแชมป์ทัวร์นาเม้นท์แรกได้สำเร็จในรายการ “โยเน็กซ์ สวิส โอเพ่น 2017” บวกกับอีก 3 รองแชมป์จากรายการ ปริ๊นเซส สิริวัณณวรี ไทยแลนด์ มาสเตอร์ส 2017, สิงคโปร์ โอเพ่น 2017 และ ชิงแชมป์เอเชีย 2017 

 ในขณะที่ฟอร์มกำลังร้อนแรง ทั้งคู่ก็ต้องสะดุด เพราะ “ปอป้อ” ได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า ในระหว่างลงเล่นหญิงคู่กับ “เอิร์ธ” พุธิตา สุภจิรกุล ในปีเดียวกันนั้น

 อาการหนักเกินรักษาด้วยการนวดทาทำให้ “ปอป้อ” ต้องเข้ารับการผ่าผัดและฟื้นฟูสภาพร่างกายอย่างสูงภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา นำโดย “ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์”

 หลังจากใช้เวลารักษากว่า 8 เดือน ในปี 2561 ปอป้อกลับมาคืนคอร์ต เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในการเล่นคู่กับ “บาส” ทั้งคู่ใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็เริ่มกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้ง

 เริ่มจากการคว้ารองแชมป์รายการ “เดนมาร์ก โอเพ่น 2018” และทำคะแนนสะสม ผ่านเข้าไปเล่นในรายการ “เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2018” ที่ประเทศจีน ก่อนจะสร้างผลงานเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้อีกด้วย

 ปีถัดมา 2019 หรือ พ.ศ.2562 “บาส-ปอป้อ” พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง กวาดแชมป์ได้ถึง 3 รายการคือ สิงคโปร์ โอเพ่น 2019, โคเรีย โอเพ่น 2019 และ มาเก๊า โอเพ่น 2019

 นอกจากนี้ยังพ่วงด้วยรองแชมป์อีก 3 รายการ ซึ่ง 1 ในนั้น คือการแข่งขันชิงแชมป์โลก 2019 ที่สวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังฝ่าด่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2019 ได้เป็นสมัยที่สองติดต่อกันอีกด้วย

 ถึงปี 2563 หรือ 2020 บาส-ปอป้อ ทะลุเข้าชิงชนะเลิศและคว้ารองแชมป์รายการที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลกอย่าง “ออล อิงแลนด์ โอเพ่น 2020” เป็นครั้งแรก ก่อนที่การแข่งขันแบดมินตันทั่วโลกจะถูกยกเลิกไป เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19

 มาถึงปีล่าสุด 2021 พ.ศ.2564 ต้นปี กีฬาลูกขนไก่เริ่มกลับมาแข่งขันกันใหม่ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ 3 รายการใหญ่ “บาส-ปอป้อ” ไม่ทำให้ผิดหวังสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการกวาด 3 แชมป์ ทั้ง โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น, โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น และเอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2020

 สร้างสถิติเป็นคู่ผสมคู่แรกที่คว้า “ทริปเปิ้ลแชมป์” ในรายการระดับ เวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 สามสัปดาห์ติดต่อกัน พร้อมๆ กับการก้าวขึ้นสู่มืออันดับ 2 ของโลก

 ความสำเร็จพร้อมความหวังจะสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญโอลิมปิก “โตเกียว เกมส์” กลายเป็นสถานการณ์ที่กดดัน “บาส-ปอป้อ” ไปจบเส้นทางเพียงแค่รอบ 8 คู่สุดท้าย เมื่อพ่ายให้คู่เจ้าภาพ ยูตะ วาตานาเบะ กับ อาริสา ฮิกาชิโนะ หวุดหวิด 1-2 เกม หลังจากที่ออกสตาร์ทได้เกมแรกจากญี่ปุ่นไปก่อน

 กลับจาก “โตเกียว” ทั้งคู่พยายามลืมความผิดหวัง เป็นกำลังหลักให้ทีมชาติทั้ง สุธีรมาน คัพ, โทมัส คัพ และ อุเบอร์ คัพ ที่ประเทศเดนมาร์ก และมาคว้ารองแชมป์ “เดนมาร์ก โอเพ่น 2021”

 ก่อนจะผงาดแชมป์ “ไฮโล โอเพ่น 2021” โดยปราบคู่ปรับจากอินโดฯ 2-0 ชนิดสะใจกองเชียร์คนไทยทั้งประเทศ

 สำหรับในช่วง 6 ปี ในระดับนานาชาติของ “บาส-ปอป้อ” เข้าชิงชนะเลิศถึง 19 รายการ ปละประสบความสำเร็จคว้ามา 8 แชมป์ ประกอบด้วย สวิส โอเพ่น 2017, มาเก๊า โอเพ่น 2019, โคเรีย โอเพ่น 2019, สิงคโปร์ โอเพ่น 2019

 และล่าสุดในปีนี้กวาดไปแล้ว 4 แชมป์ จาก โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น, โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น, เวิลด์ทัวร์ไฟนอลส์ และ ไฮโล โอเพ่น 2021

 ย้อนดูประวัติอีกครั้งของ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ เกิดเมื่อ 20 พฤษภาคม 2540 ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นคนชื่นชอบในการเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก โดยเล่นทั้ง ฟุตบอล, กรีฑา และ เทนนิส ก่อนที่เขาจะเริ่มมาค้นพบว่า ตนเองหลงใหลใน แบดมินตัน มากที่สุด เพราะมี “แมน” บุญศักดิ์ พลสนะ อดีตนักแบดมินตันชายเดี่ยวของไทย อดีตมือ 4 ของโลก เป็นไอดอล

 กระทั่งเข้าสังกัด สโมสรแบดมินตันศรีราชา ฝึกฝนทักษะ และพัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่อง จนสามารถคว้าแชมป์ในระดับเยาวชน ทุกรุ่นอายุ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นยุวชน 11 ปี, 13 ปี และ 15 ปี ในเขตภาคกลาง

 ต่อมาประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ระดับประเทศในเขตภาคกลางได้ ทั้งรุ่น 14 ปี และ 16 ปี ในการแข่งขัน เยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย (SCG Junior Badminton Championships) ทำมีโอกาสได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมในโครงการ เอสซีจี แบดมินตัน อคาเดมี่ ในปี 2553 

 หลังเข้าชายคา “เอสซีจี” โค้ชโอม-เทศนา พันธ์วิศวาส  ผู้ฝึกสอนของโครงการมองเห็นแววว่า บาส เหมาะที่จะเล่นในประเภทคู่ จึงไปจับคู่กับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง “สกาย” กิตตินุพงษ์ เกตุเรน 

 หลังลงเล่นชายคู่ได้เพียง 2 ปี “บาส-สกาย” ประกาศศักดาคว้าแชมป์ เยาวชนชิงแชมป์โลก 2014 ที่ประเทศมาเลเซีย ได้สำเร็จ แต่นับตั้งแต่นั้นมาทั้งคู่ก็ไม่สบความสำเร็จอย่างที่คิด เพราะต่างรูปร่างเล็กและมีก้างสำคัญโดยเฉพาะคู่จากอินโดฯ และ มาเลย์

 กระทั่งวันหนึ่งในปี 2015 บาสขอ “โค้ชโอม” อยากลองจับคู่กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย รุ่นพี่คนสนิทเพื่อลงแข่งขันในประเภทคู่ผสมดูบ้าง ก่อนที่สต๊าฟโค้ชของ เอสซีจี ลงชิมลางในคู่ผสมชิงแชมป์ประเทศไทยในปีนั้นเอง

 ในขณะที่ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เกิดเมื่อ 18 เมษายน 2535 ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นทายาทครอบครัวนักกีฬาแบดมินตัน และเริ่มหัดเล่นตั้งแต่เด็กจากสนามแถวบ้าน

 เริ่มแข่งขันในประเภทหญิงเดี่ยวคว้าแชมป์ในระดับเยาวชนมากมายจนก้าวติดทีมชาติไทย

 ในวัย 17 เมื่อปี 2009 “ปอป้อ” ในประเภทเดี่ยวยังสามารถเอาชนะ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ แชมป์หญิงเดี่ยวเยาวชนชิงแชมป์โลก 2009 ในการแข่งขันรายการ มาเลเซีย อินเตอร์เนชั่นแนล ชาเลนจ์ 2009 ทำให้ไปครองได้สำเร็จ

 ไม่เพียงเท่านี้ “ปอป้อ” ยังลงหญิงคู่กับ “รจนา จุฑาบัณฑิตกุล” คว้าอันดับ 3 ในประเภทหญิงคู่ จากการแข่งขัน เยาวชนชิงแชมป์โลก 2009 และเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย 2009 ที่ประเทศมาเลเซีย ทั้ง 2 รายการ

 จากนั้นในปี 2010 ทรัพย์สิรี สามารถคว้าแชมป์ ยูธ โอลิมปิก 2010 ที่ประเทศสิงคโปร์ ในประเภทหญิงเดี่ยว โดยไม่เสียเลยแม้แต่เกมเดียวตลอดทั้งทัวร์นาเม้นต์

 ผลงานในประเภทหญิงเดี่ยว ยังไปคว้าแชมป์ ยูเอส โอเพ่น 2013 พร้อมรั้งมือวางอันดับ 14 ของโลก

 ก่อนที่ผันมาจับคู่ “บาส-ปอป้อ” ลงทำการแข่งขันประเภทคู่ผสมในปี 2015 และประสบความสำเร็จต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน